คณะวิทย์ ม.มหิดล หารือ บริษัท เคอร์รี่ อินกรีเดียนท์ (ไทยแลนด์) จำกัด มองหาโอกาสสร้างความร่วมมือด้านการงานวิจัย และการพัฒนานวัตกรรมด้าน Food Tech

13 พฤศจิกายน 2567 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หารือ บริษัท เคอร์รี่ อินกรีเดียนท์ (ไทยแลนด์) จำกัด มองหาโอกาสในการสร้างความร่วมมือด้านการงานวิจัย และการพัฒนานวัตกรรมด้าน Food Tech ณ SPACE-F อาคารชีววิทยาใหม่ ชั้น 6 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท

ในโอกาสนี้ ผู้บริหารคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.พสิษฐ์ ภควัชร์ภาณุรัตน์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม และรองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐวี เนียมศิริ ผู้ประสานงานโครงการ SPACE-F และ ดร.ณฑญา ปฐมพงษ์ เป้ามีพันธ์ นักวิจัยประจำศูนย์การเรียนรู้ด้านกลิ่นรสอาหาร (Flavor Academy) โดยระหว่างเมืองนวัตกรรมอาหารส่วนขยาย (Food Innopolis) และคณะวิทยาศาสตร์ ร่วมต้อนรับ Mr. Omar Lechuga (R&D Director South East Asia) และ ดร.พรพรรณ เธียรสถิตย์ (Business Development Lead Asia Pacific Middle East and Africa) ผู้แทนบริษัท เคอร์รี่ อินกรีเดียนท์ (ไทยแลนด์) จำกัดในโอกาสเยี่ยมชมคณะวิทยาศาสตร์ และ โครงการ SPACE-F เพื่อมองหาโอกาสในการสร้างความร่วมมือด้านการวิจัยเพื่อการพัฒนานวัตกรรมด้านอาหารอย่างยั่งยืน รวมไปถึงโอกาสสำหรับนักศึกษาฝึกงาน

บริษัท เคอร์รี่ อินกรีเดียนท์ (ไทยแลนด์) จำกัด หนึ่งใน Kerry Group ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนต่างชาติขนาดใหญ่ที่ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สิ่งปรุงแต่งรสชาติอาหาร และสารอาหารฟังชันก์อื่นๆ โดยมีเป้าหมายในการสร้างโลกแห่งโภชนาการที่ยั่งยืน ด้วยการให้บริการวิจัยและให้คำปรึกษาด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารที่ดีต่อสุขภาพ มีรสชาติที่ดี และยั่งยืนต่อโลก จากทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการประยุกต์วิทยาศาสตร์ด้านอาหารและประสาทสัมผัส ไปจนถึงการแก้ปัญหาด้านการผลิต

โดยการเยือนคณะวิทยาศาสตร์ในครั้งนี้ Mr. Omar Lechuga และ ดร.พรพรรณ เธียรสถิตย์ ได้เข้าเยี่ยมชมหน่วยเครื่องมือกลาง (Central Instrument Facility, CIF) และศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้นหาตัวยา (Excellent Center for Drug Discovery, ECDD) จากนั้นจึงร่วมหารือความร่วมมือและเยี่ยมชมโครงการ SPACE-F โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.พสิษฐ์ ภควัชร์ภาณุรัตน์ รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐวี เนียมศิริ และดร.ณฑญา ปฐมพงษ์ เป้ามีพันธ์ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเชี่ยวชาญของแต่ละภาควิชา กลุ่มสาขาวิชา ศูนย์ความเป็นเลิศ รวมถึงศูนย์วิจัยระดับชาติและนานาชาติ ความร่วมมือของคณะวิทยาศาสตร์กับภาคเอกชนเพื่อสร้างนวัตกรรม หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภคในรูปแบบต่าง ๆ จากองค์ความรู้งานวิจัยพื้นฐาน รวมถึงการสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมของตนเอง โดยการส่งเสริมให้อาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัยมหิดล มีแนวคิดและทักษะผู้ประกอบการตั้งแต่ในรั้วมหาวิทยาลัย รวมถึงความเป็นมาของความร่วมมือและการก่อตั้งโครงการ SPACE-F  ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2562 ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของร่วมมือกับภาคเอกชน โดยคณะวิทยาศาสตร์ และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารแนวหน้าระดับโลก และมหาวิทยาลัยมหิดล จัดตั้งโครงการนี้ขึ้นเพื่อสร้างระบบนิเวศของสตาร์ทอัพ (Startup ecosystem) ของผู้ประกอบการทางด้านอุตสาหกรรมอาหารที่ยั่งยืน และเพื่อปั้น Food Tech Startup ในประเทศไทยให้สามารถไปสู่ระดับโลกได้ ซึ่งในเวลาต่อมาได้มีภาคเอกชนให้ความสนใจร่วมมือเพิ่มขึ้น ได้แก่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ร่วมเป็น Corporate Partner และในส่วนของ Supporting Partners ได้แก่ บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ จำกัด และล่าสุด บริษัท ลอตเต้ จำกัด

ต่อด้วยการเข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการ Flavor Academy ณ ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ โดยมี ดร.ณฑญา ปฐมพงษ์ เป้ามีพันธ์ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับห้องปฏิบัติการในเครือข่าย Flavor Academy ภายใต้โครงการเมืองนวัตกรรมอาหารส่วนขยาย หรือฟู้ดอินโนโพลิสซึ่งมีแพลตฟอร์มวิเคราะห์กลิ่นรสทั้งในตัวอย่างอาหารและเครื่องดื่มด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ก่อนเยี่ยมชมศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้นหาตัวยา (ECDD) โดยมี ดร.ณิชกานต์ สมัยนุกุล อธิบายเกี่ยวกับแพลตฟอร์มและการให้บริการด้านการทดสอบประสิทธิภาพของตัวยา รวมถึงสารสกัดจากสมุนไพรที่มีศักยภาพในการพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์แบบครบวงจรเป็นการปิดท้าย

เขียนข่าวโดย : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : นางสาวปนิดา พยุหกฤษ
ภาพข่าวโดย : นายนนท์นภัทร อินทร์สุพรรณ์
เว็บมาสเตอร์: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 13 พฤศจิกายน 2567