21 ตุลาคม 2567 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดพิธีทำบุญเพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนาคณะฯ ครบรอบ 66 ปี พร้อมเชิญ ศาสตราจารย์ นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล แสดงปาฐกถาศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข ครั้งที่ 30 “บทบาทของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการสร้าง Real-World Impact” และมอบรางวัลศิษย์เก่าดีเด่น เพื่อเชิดชูเกียรติศิษย์เก่าผู้นำเอาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาสังคม รางวัลอาจารย์ตัวอย่าง รวมถึงแสดงความยินดีกับผู้ได้รับรางวัลบุคลากรดีเด่น มหาวิทยาลัยมหิดล และรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2566 ณ อาคารบรรยายรวม (ตึกกลม) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท
โดยกิจกรรมภายในงานช่วงเช้าเป็นการพิธีทำบุญถวายเครื่องไทยธรรม ภัตตาหารแก่พระสงฆ์จากวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร จำนวน 9 รูป โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สถิตย์ สิริสิงห, รองศาสตราจารย์ ดร.ธณัฏฐ์คุณ มงคลอัศวรัตน์ ผู้ได้รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่นคณะวิทยาศาสตร์ ประจำปี 2567, อาจารย์เกษียณ, คณะผู้บริหารคณะวิทยาศาสตร์ รวมถึงผู้บริหารคณะต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมพิธีสงฆ์ ณ ห้องประชุม K102 อาคารเฉลิมพระเกียรติ
จากนั้นจึงเป็นพิธีเปิด ณ ห้อง L-01 อาคารบรรยายรวม (ตึกกลม) ซึ่งได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ประสิทธิ์ สุวรรณเลิศ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ กล่าวต้อนรับผู้มาร่วมแสดงความยินดีและกล่าวเปิดงาน ต่อด้วยการปาฐกถาศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข ครั้งที่ 30 ในหัวข้อ “บทบาทของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการสร้าง Real-World Impact” ซึ่งได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวปาฐกถา โดยกล่าวถึง ทิศทางของมหาวิทยาลัยมหิดลที่มุ่งมั่นในการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม ซึ่งมุ่งเน้นในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาวะของประชาชน ผลักดันให้เกิดนโยบายสาธารณะที่เป็นประโยชน์ และผลักดันให้เกิดผลผลิตทางเศรษฐกิจและผลดีต่อสิ่งแวดล้อม โดยเพิ่มสัดส่วนของงานวิจัยที่สร้าง Real World Impact ขณะเดียวกันก็ยังคงให้ความสำคัญของงานวิจัยที่สร้าง Academic Impact คำนึงถึงความยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) และนำเอาเทคโนโลยี AI มาช่วย พร้อมทั้งสร้างความร่วมมือกันภายในมหาวิทยาลัยมหิดล และความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อสร้างนวัตกรรม ภายใต้หัวข้อการวิจัย 4 ด้าน ได้แก่ Health Science, Science & Technology, Sustainability, Well-being ซึ่งล้วนต้องอาศัยวิทยาศาสตร์เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อน
หลังจากการจบการปาฐกถาแล้วจึงเข้าสู่พิธีการประกาศผล 2 รางวัลเชิดชูเกียรติของคณะวิทยาศาสตร์ และการแสดงความยินดีกับรางวัลบุคลากรดีเด่น มหาวิทยาลัยมหิดล และรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2566 ตามลำดับ
รางวัลศิษย์เก่าดีเด่นคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี 2567 เป็นรางวัลที่คณะวิทยาศาสตร์ ร่วมกับสมาคมศิษย์เก่าคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (สศวม) พิจารณามอบให้กับศิษย์เก่า หรือผู้ที่เคยลงทะเบียนเรียนวิชาของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ประสบความสำเร็จในวิชาชีพ และทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ ซึ่งในปีนี้ผู้ได้รับรางวัล ได้แก่
- ดร.พงษ์สุดา (ภูมะธน) ผ่องธัญญา
Managing Director บริษัท Deltalab S.L. ประเทศสเปน
Healthcare Supplies SCG Packaging PLC, SCG ประเทศไทย
ศิษย์เก่าในระดับปริญญาตรี สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ - รองศาสตราจารย์ ดร.ธณัฏฐ์คุณ มงคลอัศวรัตน์
ผู้ช่วยอธิการบดี สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์
กรรมการมูลนิธิจุฬาภรณ์
และนายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
ศิษย์เก่าระดับปริญญาตรี สาขาวิชาเคมี และศิษย์เก่าระดับปริญญาโท สาขาวิชาเคมีอินทรีย์ - ศาสตราจารย์ ดร.นริศรา จันทราทิตย์
ประธานสภาคณาจารย์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ศิษย์เก่าระดับปริญญาโท สาขาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ซึ่งได้ศึกษาในวิชาร่วมระหว่างหลักสูตรจุลชีววิทยาของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะวิทยาศาสตร์ ในหลายรายวิชา
โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สถิตย์ สิริสิงห ผู้แทนนายกสมาคมศิษย์เก่าคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มอบโล่เกียรติยศแก่ศิษย์เก่าดีเด่นทั้ง 3 ท่าน
รางวัลอาจารย์ตัวอย่าง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี 2567 ซึ่งมอบให้กับผู้ที่มีผลงานโดดเด่นรอบด้านทั้งในด้านการสอนและการวิจัยเพื่อนำสังคมไทยสู่สังคมแห่งนวัตกรรมและการเรียนรู้ในระดับสากล รวมถึงได้อุทิศตนให้ส่วนรวมอย่างเป็นที่ประจักษ์ ได้แก่
- รองศาสตราจารย์ ดร.ชรินทร์ โหมดชัง
อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์
ผู้ได้รับรางวัลอาจารย์ตัวอย่างระดับรองศาสตราจารย์ – ศาสตราจารย์ - ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อดิศักดิ์ ร่มแสง
อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ
ผู้ได้รับรางวัลอาจารย์ตัวอย่างระดับอาจารย์ – ผู้ช่วยศาสตราจารย์
โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ประสิทธิ์ สุวรรณเลิศ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มอบโล่เกียรติยศแก่อาจารย์ดีเด่นคณะวิทยาศาสตร์ทั้ง 2 ท่าน
ข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงานมหาวิทยาลัยดีเด่นของมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี 2566
พนักงานมหาวิทยาลัย ประเภทวิชาการ ระยะเวลาการปฏิบัติงานติดต่อกันไม่เกิน 10 ปี
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีรา ฉันทโรจน์ศิริ
อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี
และรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2566 ซึ่งมอบให้กับผู้ที่มีคุณธรรม จริยธรรม ความรู้ ความสามารถ ความวิริยะอุตสาหะ ปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จนมีผลงานดีเด่นและดีเลิศในสาขาต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัย สังคม และประเทศชาติ ได้แก่
รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาการวิจัย
รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงอรุณี ธิติธัญญานนท์
อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา
รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาความเป็นครู
ศาสตราจารย์ ดร.ชุติมา คูหากาญจน์
อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี
โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ประสิทธิ์ สุวรรณเลิศ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มอบช่อดอกไม้แสดงความยินดี แก่ผู้ได้รับรางวัลทั้ง 3 ท่าน
นอกจากนั้น ภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการ นิทรรศการชุด “มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์กับคณะวิทยาศาสตร์” และ “Timeline จากวันนั้นสู่วันนี้ของคณะวิทยาศาสตร์” และประวัติของผู้ได้รับรางวัล ทั้ง 8 ท่าน และองค์ปาฐก ณ บริเวณโถงด้านล่างของอาคารบรรยายรวม (ตึกกลม) อีกด้วย
เขียนข่าวโดย : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : นางสาวปนิดา พยุหกฤษ
ภาพข่าวโดย : นายนนท์นภัทร อินทร์สุพรรณ์,
นายคุณานนต์ ศิริเขตร์
เว็บมาสเตอร์: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 21 ตุลาคม 2567