2 อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คว้ารางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาการวิจัย และสาขาความเป็นครู ประจำปีการศึกษา 2566

3 ตุลาคม 2566 มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานแถลงข่าวประกาศผลรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2566 เปิดตัวผู้รับรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาการวิจัย สาขาการแต่งตำรา สาขาการบริการ และสาขาความเป็นครู ประจำปีการศึกษา 2566 โดยมี ศาสตราจารย์ นพ.ปิยะมิตร ศรีธารา อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานกล่าวถึงความเป็นมาของรางวัล และประกาศผลการตัดสินรางวัล ณ ห้องประชุมอาคารสตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท

โดยในปีนี้มีอาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ 2 ท่าน ได้รับรางวัล ใน 2 สาขา ได้แก่ รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงอรุณี ธิติธัญญานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ได้รับรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาการวิจัย ซึ่งมอบให้กับผู้ที่มีความคิดริเริ่มในการวิจัย เพื่อสนองความต้องการ  แก้ปัญหา  พัฒนา  หรือสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ  ให้แก่สังคม  โดยเป็นผลงานที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่และอ้างอิงในวารสารวิชาการระดับชาติและนานาชาติ จากผลงานวิจัยเรื่อง “Empowering the Fight Against SARS-CoV-2: Exploring Herb Antiviral Activities and Addressing Vaccine Limitations Through Robust Antiviral Assays” และศาสตราจารย์ ดร.ชุติมา คูหากาญจน์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ ได้รับรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาความเป็นครู ซึ่งมอบให้กับผู้ที่มีความรู้ทางวิชาการ และถ่ายทอด รวมถึงช่วยเหลือนักเรียน ให้พัฒนาทางด้านสติปัญญา บุคลิกภาพ อารมณ์ และสังคม ตลอดจนด้านคุณธรรมและจริยธรรม สร้างองค์ความรู้ใหม่อันเป็นการพัฒนาความรู้ให้แก่ศิษย์ได้อย่างดี

รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงอรุณี ธิติธัญญานนท์ เป็นอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา ผู้ปรับปรุงห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 3 (BSL3) ของภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ เพื่อรองรับงานวิจัยเกี่ยวกับเชื้อไวรัสอุบัติใหม่ โดยช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้นำความเชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา และศักยภาพของห้อง BSL3 ในการร่วมหาวิธีควบคุมโรค พัฒนาแพลตฟอร์มการตรวจคัดกรองยาต้านเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ทดสอบสมุนไพรกว่า 100 ชนิด ก่อนพบว่าสารสกัดจากกระชายและฟ้าทลายโจร มีศักยภาพในการยับยั้งเชื้อ SARS-CoV-2 ซึ่งนำไปสู่การตีพิมพ์งานวิจัยที่มีการนำผลการศึกษาไปใช้อ้างอิง ในการอนุญาตให้ใช้สารสกัดจากฟ้าทะลายโจรรักษาผู้ป่วยโควิดที่มีอาการน้อย หรือปานกลาง ในช่วงที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก และนำไปสู่การวิจัยพัฒนาสารสกัดกระชายขาว เพื่อนำไปใช้เป็นยาสำหรับโรค COVID-19  และยังได้พัฒนาวิธีทดสอบ neutralizing antibody : nAb (ตรวจวัดระดับภูมิต้านทานการติดเชื้อ) ได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นของการระบาด ร่วมกับติดตามแยกเพาะเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ที่เข้ามาในประเทศไทย โดยตรวจและเก็บข้อมูลระดับ nAb ในผู้ป่วยที่หายจากโรค COVID-19 ศึกษาผลการตอบสนองต่อวัคซีน และความสามารถในการหลบหลีกวัคซีน โดยได้ตีพิมพ์งานวิจัย “CoronaVac induces lower neutralising activity against variants of concern than natural infection” ที่เป็นข้อบ่งชี้ในการเปลี่ยนสูตรวัคซีนให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น สามารถรับมือในการควบคุมการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ที่น่ากังวล (VOCs) ในระยะที่เริ่มมีการระบาดของสายพันธุ์เดลตา ซึ่งช่วยในการลดความสูญเสียจากการระบาด และสามารถควบคุมการระบาดให้อยู่ในวงจำกัดได้ในที่สุด

ศาสตราจารย์ ดร.ชุติมา คูหากาญจน์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็น “ครูเคมีผู้สร้างทัศนคติที่ดี ให้คำปรึกษา และฝึกฝนให้ลูกศิษย์มีกระบวนการคิด ส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ และทักษะการทำงาน สอดแทรกจริยธรรมต่าง ๆ ในการครองตนที่ดี การวางตัวสังคมควบคู่ไปกับการปลูกฝังอุปนิสัยที่ดี เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพให้แก่สังคม โดยลูกศิษย์ที่สำเร็จการศึกษา สามารถนำความรู้จากการทำวิจัยรายวิชาวิทยานิพนธ์ไปต่อยอดในสายอาชีพของตนเองได้ นอกจากนั้นยังสร้างเครือข่ายงานวิจัยในประเทศและต่างประเทศ โดยนำงานวิจัยในศาสตร์ของตนเองไปต่อยอดกับศาสตร์ต่างสาขาเพื่อเพิ่มผลกระทบ (impact) และขยายผลของงานวิจัย และส่งเสริมให้ “ลูกศิษย์” ได้เรียนรู้การทำงานร่วมกับผู้อื่น หาประสบการณ์ข้ามศาสตร์ เรียนรู้เทคโนโลยีของงานวิจัยใหม่ ๆ เพื่อให้ก้าวทันโลกในยุคปัจจุบัน และเมื่อสำเร็จการศึกษา ก็สามารถนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาสายงานได้อย่างเข้มแข็ง

ทั้งนี้ อาจารย์ทั้ง 2 ท่าน จะเข้ารับพระราชทานรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล ปีการศึกษา 2566 จาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรมหาวิทยาลัยมหิดล วันที่ 8 ตุลาคม 2567 ณ มหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ที่จะถึงนี้

ในโอกาสอันดีนี้ ทีมผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล อาทิ รองศาสตราจารย์ ดร.สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ รักษาการแทนรองอธิการบดี รองศาสตราจารย์ ดร.วิชิตา รักธรรม รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและภาพลักษณ์ พร้อมด้วยผู้บริหารส่วนงาน และผู้บริหารคณะวิทยาศาสตร์ นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ประสิทธิ์ สุวรรณเลิศ คณบดี อาจารย์ ดร.ระพี บุญเปลื้อง รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและวิเทศสัมพันธ์ รองศาสตราจารย์ ดร.เทียนทอง ทองพันชั่ง หัวหน้าภาควิชาเคมี ได้ร่วมเป็นเกียรติในงานแถลงข่าว และมอบช่อดอกไม้แสดงความยินดีกับอาจารย์ผู้ได้รับรางวัลทั้ง 2 ท่าน ด้วย

เรียบเรียงโดย : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : นางสาวปนิดา พยุหกฤษ
ภาพข่าวโดย : นายนนท์นภัทร อินทร์สุพรรณ์
เว็บมาสเตอร์: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 3 ตุลาคม 2567