คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ บริษัท แบล็คบ็อกซ์ ทีม จำกัด จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ (workshop) ภายใต้โครงการการออกแบบหลักสูตรเพื่อสร้างกําลังคนด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมตามทิศทางการพัฒนาของประเทศ ระดมความคิดอาจารย์ นักศึกษา ศิษย์เก่า และผู้ใช้บัณฑิต ออกแบบ 6 รายวิชาและโครงการ เชื่อมโยงนักศึกษาเข้ากับโลกเพื่อตอบโจทย์การเรียนรู้อย่างแท้จริง โดยเตรียมเปิดตัวหลักสูตรในการเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2567 ที่จะถึงนี้
โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ (workshop) ภายใต้โครงการการออกแบบหลักสูตรเพื่อสร้างกําลังคนด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมตามทิศทางการพัฒนาของประเทศ ดูแลโดยงานการศึกษา ถูกจัดขึ้นในวันที่ 3 พฤษภาคม 10 มิถุนายน และ 8 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยมีอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์จาก 6 หลักสูตร จำนวนรวมกว่า 28 ท่าน พร้อมด้วยนักศึกษา ศิษย์เก่า และผู้ใช้บัณฑิต ร่วมออกแบบรายวิชาและโครงการผ่านกระบวนการ Design Thinking อย่างเต็มรูปแบบ สำรวจความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย วิเคราะห์และจัดลำดับความสำคัญต่อหลักสูตร และปรับกระบวนการเรียนการสอนให้เป็นแบบ Authentic 100% จนเกิดเป็น 6 รายวิชาและโครงการที่จะเชื่อมต่อนักศึกษาสู่โลกอย่างแท้จริง
สำหรับรายวิชาทั้ง 6 รายวิชาและโครงการที่จะเปิดสอนในปีการศึกษา 2567 ได้แก่
1. รายวิชาการลงทุนแบบนักฟิสิกส์ ที่เน้นให้นักศึกษาสามารถสร้างแบบจำลองการลงทุน ตลาดหุ้นผ่านความรู้ทางฟิสิกส์
2. รายวิชาพลังงานสะอาดและแผนธุรกิจบนผืนผ้าใบ (Clean Energy and Business Model Canvas) ที่แสดงให้เห็นถึงรายวิชาของคณะวิทยาศาสตร์ ที่ไม่ได้หยุดอยู่แค่ความรู้ความเข้าใจ หรืองานวิจัยใหม่ ๆ เรื่องพลังงานสะอาด แต่ได้ต่อเชื่อมไปถึงแผนธุรกิจด้านพลังงานสะอาดที่วิเคราะห์ถึงความคุ้มค่าทางธุรกิจด้วย
3. รายวิชานิเวศวิทยาการเมือง (Political Ecology) เป็นการเปิดรายวิชาใหม่ เพื่อตอบโจทย์ปัจจุบันของประเทศโดยจะเป็นวิชาที่จะหยุดการฟอกเขียวของโครงการต่าง ๆ แต่จะทำให้เข้าใจถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับบทบาททางการเมืองที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการกำหนดจุดยืนและแนวนโยบายเพื่อความยั่งยืนของทรัพยากร
และรายวิชาและโครงการที่พร้อมปรับเนื้อหาให้เป็นแบบ Authentic เพื่อตอบโจทย์ผู้เรียนมากขึ้น ได้แก่
1. รายวิชา Business Management of Biotechnology ที่ไม่ได้บอกเพียงว่าว่าเทคโนโลยีชีวภาพสำคัญอย่างไร แต่เติมความคิดเชิงธุรกิจและทักษะการทำโครงการ
2. รายวิชา Plant Science and Global Concern ที่มุ่งนักศึกษาทำโครงงานที่ตอบโจทย์ความห่วงใยของนักศึกษาที่มีต่อโลก ผ่านกระบวนการและความรู้เกี่ยวกับพืช ตลอดจนการวิเคราะห์การทำ CSR ของบริษัทต่าง ๆ
3. โครงการแนะนำคณิตศาสตร์ขั้นสูง เป็นโครงการที่แก้ปัญหาสำคัญที่นักศึกษาพบเจอ โดยโครงการนี้เน้นให้นักศึกษาได้ค้นพบเรื่องที่ตัวเองสนใจ และเห็นถึงสิ่งที่จะได้เรียนในสาขาคณิตศาสตร์ โดยใช้กระบวนการ Optimization เพื่อช่วยในการเลือกเรียนรายวิชาของนักศึกษา
การพัฒนาหลักสูตรและโครงการทั้ง 6 นี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างกําลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งอยู่ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ นวัตกรรมการศึกษาและการส่งเสริมการเรียนรู้ที่แท้จริง (Innovative Education and Authentic Learning) ที่มุ่งสร้าง Ecosystem เพื่อส่งเสริมหลักสูตรที่เข้มแข็ง เน้นการเรียนรู้แบบ Authentic Learning ตอบโจทย์ตลาดงาน ตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียน และสอดคล้องกับนโยบายที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ของคณะวิทยาศาสตร์อีกด้วย
เขียนข่าวโดย : งานการศึกษา
เรียบเรียงโดย : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ภาพข่าวโดย : งานการศึกษา
เว็บมาสเตอร์ : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
25 กรกฎาคม 2567