คณะวิทย์ ม.มหิดล ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร ม.ธรรมศาสตร์ และพันธมิตร จัดงานประชุมวิชาการ The 7th Asian Symposium on Emulsion Polymerization and Functional Polymeric Microspheres (ASEPFPM) 2024 เปิดโอกาสนักวิจัยทั่วภูมิภาคเอเชียแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านพอลิเมอร์คอลลอยด์และการประยุกต์ใช้ ณ จังหวัดเชียงใหม่

20-22 มิถุนายน 2567 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และพันธมิตร จัดงานประชุมวิชาการ The 7th Asian Symposium on Emulsion Polymerization and Functional Polymeric Microspheres (ASEPFPM) 2024 เปิดโอกาสให้อาจารย์ นักวิจัย นิสิต และนักศึกษา เผยแพร่ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พร้อมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่ทันสมัยในด้านพอลิเมอร์คอลลอยด์ อนุภาคระดับไมโครเมตรและนาโนเมตร รวมถึงสาขาที่เกี่ยวข้อง ไปจนถึงการประยุกต์ใช้ด้านต่าง ๆ อาทิ การแพทย์ อุตสาหกรรมอาหาร การเคลือบ และสี ณ โรงแรม แคนทารี ฮิลล์ เชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

ในโอกาสนี้ ศาสตราจารย์ ดร.ประมวล ตั้งบริบูรณ์รัตน์ จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ รองศาสตราจารย์ ดร.ปกรณ์ โอภาประกาศิต จากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะประธานกิตติมศักดิ์ของงานประชุมวิชาการ พร้อมด้วยคณาจารย์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยามหิดล ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.ดาครอง พิศสุวรรณ หัวหน้ากลุ่มสาขาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ, รองศาสตราจารย์ ดร.อทิตยา ศิริภิญญานนท์ รองศาสตราจารย์ ดร.พันธ์ญา สุนินทบูรณ์ รองศาสตราจารย์ ดร.ปรียานุช แสงไตรรัตน์นุกูล และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัญรัตน์ วัฒนพานิช อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี, รองศาสตราจารย์ ดร.จิรารัตน์ วงศ์คงคาเทพ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ, นักศึกษา และบุคลากร ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิด

งานประชุมวิชาการ Asian Symposium on Emulsion Polymerization and Functional Polymeric Microspheres (ASEPFPM) 2024 เกิดจากความร่วมมือของนักวิจัยด้านพอลิเมอร์คอลลอยด์ชั้นแนวหน้าของโลกที่อยู่ในภูมิภาคเอเชีย โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้นักวิจัยได้รายงานความก้าวหน้าของผลงานวิจัยในทุก ๆ 2 ปี และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักวิจัยในภูมิภาค และยังเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับนักวิจัยพอลิเมอร์คอลลอยด์ฯ ในเอเชีย ในการเข้าร่วมการประชุมวิชาการระดับโลก The International Polymer Colloid Group (IPCG) อีกด้วย โดยการประชุมครั้งที่ 7 นี้ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีความพร้อมด้านวิชาการในระดับนานาชาติ และมีความเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดงาน ร่วมกับสถาบันการศึกษาที่มีผลงานวิจัยด้านพอลิเมอร์คอลลอยด์ฯ ชั้นแนวหน้าของประเทศไทย อาทิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

การประชุมวิชาการในครั้งนี้มีนักวิจัย และผู้ที่สนใจจากภาครัฐและภาคเอกชนกว่า 150 คน จากสถาบันกว่า 30 แห่ง รวมถึงอาจารย์และนักศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพอลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และนักศึกษาในสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และอภิปรายเกี่ยวกับพอลิเมอร์คอลลอยด์ฯ อย่างลึกซึ้ง รวมถึงเรียนรู้และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมวัฒนธรรม ซึ่งถือเป็นการเพิ่มพูนประสบการณ์ และเชื่อมโยงเครือข่ายการวิจัยกับภาคอุตสาหกรรม เพื่อนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแบบองค์รวมไปบูรณาการและต่อยอดเป็นนวัตกรรม นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตประชาชนในอนาคต

เรียบเรียงโดย : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : นางสาวปนิดา พยุหกฤษ
ภาพข่าวโดย : Facebook Page Polymer Mahidol
เว็บมาสเตอร์: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 4 กรกฎาคม 2567