ข้าว พืชที่เป็นอาหารหลักคู่วิถีชีวิตของชาวไทยมาช้านาน หนึ่งในเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ประกอบพิธีทำขวัญเมล็ดพันธุ์พืชในพิธีพืชมงคล และยังเป็นตัวเอกของพิธีแรกนาขวัญ ซึ่งเรียกรวมกันว่าพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ที่จัดขึ้นในวันพืชมงคล เพื่อให้เมล็ดพันธุ์ปราศจากโรคภัยและให้อุดมสมบูรณ์เจริญงอกงามดี และเป็นการแสดงสัญญาณให้ประชาชนรับรู้ว่าฤดูกาลแห่งการทำนาและเพาะปลูกได้เริ่มขึ้นแล้ว รวมถึงเป็นตัวอย่างแก่เกษตรเพื่อชักนำให้มีความมั่นใจในการทำนาข้าวอีกด้วย

 

ในปัจจุบันนอกจากจะเพาะปลูกข้าวให้ได้ผลผลิตที่ดีแล้ว อีกประเด็นที่เกษตรกรและคนทั่วไปอาจจะมองข้าม คือ เรื่องของการปนเปื้อนสารเคมีต่าง ๆ ซึ่งส่งผลระยะยาวต่อสุขภาพของผู้บริโภค มารู้จักความพิเศษของ “ข้าว” และการปนเปื้อนโลหะหนักไปกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปฐมพงษ์ แสงวิไล อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา นักชีววิทยาผู้ศึกษาเกี่ยวกับการสะสมของ โลหะหนักที่ส่งผลต่อสุขภาพในข้าวแต่ละพันธุ์ เช่น แคดเมียม (Cd) สังกะสี (Zn) สารหนู (As) และการปรับปรุงดินเพื่อลดการปนเปื้อนของโลหะหนัก