ไขความลับพลังความเร็ว 100 เมตร ในการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิกเกมส์ 2020
มาพูดคุยกันต่อเนื่องถึงเบื้องหลังที่ทำให้นักกีฬา วิ่งได้เร็วกว่าคนทั่ว ๆ ไป ความอัศจรรย์ของร่างกายมนุษย์ และปัจจัยที่พานักวิ่งไปสู่เหรียญทองโตเกียวโอลิมปิกเกมส์ ในสนามการแข่งขันวิ่ง 100 เมตรไปกับ รองศาสตราจารย์ ดร.เทพมนัส บุปผาอินทร์ อาจารย์ประจำภาควิชาสรีรวิทยา ประธานหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาสรีรวิทยาการออกกำลังกาย (หลักสูตรนานาชาติ) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
00:46 ทำไมนักวิ่งถึงทำเวลาได้น้อยกว่าคนทั่วไป
รองศาสตราจารย์ ดร.เทพมนัส บุปผาอินทร์ เกริ่นถึง 4 ปัจจัยที่ทำให้นักวิ่งทำเวลาได้น้อยกว่าคนทั่วไป และสามารถคว้าชัยในการแข่งขันได้ และปูความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการเคลื่อนที่เบื้องต้น ซึ่งเป็นหลักการสำคัญที่เชื่อมโยงกับปัจจัยทั้ง 4 อย่างที่ส่งผลต่อการวิ่งระยะสั้นโดยตรง
04:18 ปัจจัยทางสรีรวิทยา (Physiological Factor)
เมื่อการวิ่งคือการออกแรงผลักตัวเองให้เคลื่อนไปข้างหน้า ทำอย่างไรเราจึงจะสร้างแรงถีบพื้นส่งตัวให้พุ่งออกไปข้างหน้าได้แรงที่สุด และสร้างความเร็วได้ภายในเวลาไม่กี่วินาที รองศาสตราจารย์ ดร.เทพมนัส บุปผาอินทร์ อธิบายถึงกล้ามเนื้อและระบบพลังงานที่ร่างกายใช้ในการวิ่งระยะสั้น และระบบประสาทและการตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นซึ่งส่งผลโดยตรงกับการออกตัวของนักกีฬาพร้อมยกกรณีตัวอย่าง นอกจากนั้นยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงพันธุกรรม การฝึกฝนที่มีส่วนในการเพิ่มปริมาณกล้ามเนื้อ และอิทธิพลของฮอร์โมนเพศต่อการเพิ่มขนาดกล้ามเนื้ออีกด้วย
15:22 ปัจจัยทางชีวกลศาสตร์ (Biomechanical Factor)
การจัดระเบียบในการเคลื่อนไหวร่างกายก็สำคัญไม่แพ้กัน รองศาสตราจารย์ ดร.เทพมนัส บุปผาอินทร์ กล่าวถึงรูปแบบการจัดระเบียบร่างกายและการทำงานของกล้ามเนื้อซึ่งส่งผลต่อการสร้างแรงส่งเวลาออกตัววิ่ง แรงส่งขณะวิ่ง การรักษาสมดุลการเคลื่อนไหวร่างกาย
19:05 ปัจจัยทางเทคนิค (Technical Factor)
สำหรับการวิ่งระยะสั้นรูปร่างของนักกีฬาอาจจะมีส่วนทำให้ได้เปรียบแต่นั่นไม่ใช่ทั้งหมด รองศาสตราจารย์ ดร.เทพมนัส บุปผาอินทร์ กล่าวถึง เทคนิคที่นักกีฬาวิ่งต้องฝึกฝนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการเคลื่อนไหวให้ได้แรงและความเร็วที่เหนือชั้น การเสริมจุดแข็ง แก้ไขจุดอ่อน พร้อมยกตัวอย่างนักวิ่งชั้นนำที่มีความแตกต่างกันด้านรูปร่าง 2 คน และการวิ่งของทั้งคู่
22:40 แผนกลยุทธ์ (Tactical Factor)
แผนกลยุทธ์สำหรับการวิ่งระยะสั้น 100 เมตรจำเป็นหรือไม่ รองศาสตราจารย์ ดร.เทพมนัส บุปผาอินทร์ กล่าวถึงการวิ่งระยะสั้น 100 เมตร และความจำเป็นของแผนกลยุทธ์
23:02 ประมวลภาพการแข่งขันวิ่ง 100 เมตร ชายรอบชิงชนะเลิศ ในการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิกเกมส์ 2020
ทำไม มาร์เซลล์ จาค็อบส์ (JACOBS Lamont Marcell) ซึ่งเป็นม้ามืดนอกสายตาจึงได้อันดับ 1 ในการแข่งขันวิ่ง 100 เมตร ชาย ไปครอง รองศาสตราจารย์ ดร.เทพมนัส บุปผาอินทร์ ชี้ให้เห็นผลจากปัจจัยทั้ง 4 ที่ฉายชัดบนร่างกายของผู้ชนะทั้ง 3 อันดับ และประมวลภาพการแข่งขัน พร้อมให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงประวัติการแข่งขัน เบื้องหลัง จุดร่วมที่น่าสนใจของผู้ชนะทั้ง 3 อันดับ นอกจากนั้นยังกล่าวถึงศักยภาพที่น่าสนใจของนักวิ่งชาวเอเชีย และช่วงอายุที่นักวิ่งทำความเร็วได้สูงสุดอีกด้วย
31:16 คิดว่าอีกนานไหมกว่าจะมีคนทำลายสถิติมนุษย์ที่เร็วที่สุดโลกในปัจจุบันได้
รองศาสตราจารย์ ดร.เทพมนัส บุปผาอินทร์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับโอกาสในการทำลายสถิติมนุษย์ที่เร็วที่สุดในโลกทั้งชายและหญิงในปัจจุบันเป็นการทิ้งท้าย
Podcast: Play in new window | Download
Subscribe: Apple Podcasts