ฉลามไทยน่ารักษ์

ใต้ท้องทะเลที่สวยงาม มีสิ่งมีชีวิตแสนพิเศษนานาชนิดอาศัยอยู่ รวมถึง ฉลาม ปลากระดูกอ่อนที่มีวิวัฒนาการมายาวนานอย่างที่น่าทึ่ง หนึ่งในนักล่าแห่งท้องทะเล ซึ่งกำลังถูกคุมคามทั้งจากการบริโภคของมนุษย์ และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงในปัจจุบัน

เราอาจจะคิดว่าเดิมทีน่านน้ำประเทศไทยมีฉลามอาศัยอยู่น้อย แต่รู้หรือไม่ว่าน่านน้ำทะเลไทยก็จัดเป็นพื้นที่มีความหลากหลายทางชนิดของปลากระดูกอ่อนมากแห่งหนึ่งของโลก โดยมีปลากระดูกอ่อนอย่างน้อย 187 ชนิด แบ่งเป็นฉลามกว่า 87 ชนิด กระเบน 95 ชนิด และไคเมรา 5 ชนิด ซึ่งในจำนวนนี้ยังมี 13 ชนิดที่ยังไม่มีชื่ออย่างเป็นทางการเนื่องจากมีลักษณะบางส่วนที่แตกต่างจากชนิดที่เคยมีการศึกษามาก่อนซึ่งต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอีกด้วย

เปิดโลกใต้ทะเลไปรู้จักฉลามไทย ซึ่งกำลังลดจำนวนลง และต้องการการปกป้องอนุรักษ์เอาไว้ไม้แพ้สัตว์ชนิดอื่น ๆ ในวัน Shark Awareness Day ซึ่งตรงกับวันที่ 14 กรกฎาคม นี้ ไปกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เจนจิต คูดำรงสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา

01:30 ทะเลในประเทศไทยมีฉลามอยู่ไหม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เจนจิต คูดำรงสวัสดิ์ กล่าวถึงน่านน้ำประเทศไทยตามการแบ่งเขตภูมิศาสตร์ทางทะเลแบบต่าง ๆ ว่าเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายของปลากระดูกอ่อนและฉลามมากแห่งหนึ่งของโลกแต่ยังขาดการสำรวจอยู่มาก

03:36 ฉลามไทยมีกี่สายพันธุ์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เจนจิต คูดำรงสวัสดิ์ เล่าถึงสายวิวัฒนาการ ความแตกต่างของปลาประดูกอ่อนทั้ง 3 กลุ่ม ได้แก่ ฉลาม กระเบน และไคเมรา จำนวนชนิดพันธุ์ปลากระดูกอ่อนในประเทศไทยซึ่งมีการเก็บข้อมูลมาอย่างยาวนานโดยคุณทัศพล กระจ่างดารา นักวิชาการประมง กรมประมง ซึ่งจัดทำรวมเล่มเป็นหนังสือ “ปลากระดูกอ่อน (ปลาฉลาม ปลากระเบน และปลาหนู) ที่พบในน่านน้ำไทย และน่านน้ำใกล้เคียง” ในปี พ.ศ. 2562 (Krajangdara et al. 2019) และมีการปรับปรุงเพิ่มเติมใน ปี พ.ศ. 2564 นี้ รวมถึงความพิเศษของปลากระดูกอ่อนที่พบได้ในระบบนิเวศที่หลากหลายทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม

10:48 จำนวนประชากรฉลามไทยในปัจจุบัน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เจนจิต คูดำรงสวัสดิ์ เผยถึงปริมาณ ฉลาม รวมถึงกระเบน ซึ่งวัดจากน้ำหนักหรือ biomass ที่มักเป็นผลพลอยได้จากการทำประมงสัตว์น้ำชนิดอื่น ตั้งแต่ ปีพ.ศ. 2541 ถึง 2562 ซึ่งพบว่ามีฉลามที่ถูกจับได้จำนวนหลายพันกิโลกรัม และมีจำนวนลดลงมากอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ รวมถึงเผยว่ามีการเพิ่มฉลามบางชนิดเข้าไปในบัญชีสัตว์ป่าสงวน และปลากระดูกอ่อนอีก 12 ชนิดในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองอีกด้วย

16:42 แนวทางการอยู่ร่วมกันของมนุษย์กับฉลาม ควรอยู่กันอย่างไรให้ปลอดภัยทั้ง 2 ฝ่าย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เจนจิต คูดำรงสวัสดิ์ ชวนมองฉลามทั้งในมุมมองของนักล่าแห่งท้องทะเลที่มนุษย์กลัวว่าจะถูกทำร้ายเมื่ออยู่ในทะเล โดยเผยถึงสถิติที่คนได้รับอันตรายจากฉลาม โอกาสที่อาจจะเกิดการเผชิญหน้ากับฉลามได้ พร้อมแนะวิธีการหลีกเลี่ยง หรือความลดเสี่ยงที่จะได้รับอันตราย และมองกลับกันในมุมของฉลามที่ถูกล่าโดยมนุษย์เพื่อนำมาบริโภคและใช้ประโยชน์ ปิดท้ายด้วยแนวทางการอยู่ร่วมกันของมนุษย์กับฉลามอย่างสมดุล

อยากรู้ไหมว่าคุณเหมือนฉลามชนิดไหน ทดลองทำ Quiz สนุก ๆ พร้อมกับฉลามให้มากขึ้นในวัน Shark Awareness Day ได้ที่

https://www.sharktrust.org/blog/shark-awareness-day