ส่องพุ่มทุเรียนในวิมานหนาม

       เห็นดอกทุเรียนบานเต็มต้นแบบนี้ บอกได้เลยว่าเป็น หมอนทอง ส่วนหนึ่งก็ด้วยว่าเป็นพันธุ์ดอกดกนี่แหละ ที่ทำให้หมอนทองเป็นที่นิยมปลูกกันทั่วประเทศ ทั้งลูกใหญ่ด้วย อร่อยด้วย กลิ่นไม่แรงมากด้วย ยิ่งทำให้เหมาะที่จะปลูกหมอนทองเป็นการค้า

       พันธุ์หมอนทองดั้งเดิมมาจากจังหวัดนนทบุรี น่าจะเกิดขึ้นด้วยความบังเอิญ แล้วชาวสวนคงชิมแล้วชอบใจ จึงได้คัดเลือกเก็บพันธุ์ไว้ ขยายพันธุ์ต่อโดยตัดกิ่งไปเสียบยอดกับต้นตอที่เพาะจากเมล็ด ทำให้รากแข็งแรง และได้ต้นที่ให้ลูกเป็นหมอนทองแบบชัวร์ๆ เพราะถ้าเพาะจากเมล็ด อาจจะได้มาจากการผสมต้นโน้นกับต้นนี้ที่ไม่รู้ที่มา และมีลักษณะเปลี่ยนไป

       ทุเรียนการค้าผลใหญ่น้ำหนักมาก ถ้าโดนลมแรงก็อาจจะหลุดร่วงจากกิ่งก่อนจะแก่จัด เพื่อความมั่นใจ ชาวสวนจึงมัดผลทุเรียนไว้กับกิ่ง บางทีก็มัดกิ่งกับกิ่งด้วย ช่วยลดโอกาสที่จะเกิดความเสียหาย ถ้าปล่อยให้ผลร่วง หรือกิ่งหัก ก็เหมือนทิ้งแบ็งค์ร้อย แบ็งค์ห้าร้อย แบ็งค์พัน ลงดินกันเลยทีเดียว เราจึงเห็นเชือกระโยงระยางในพุ่มต้นทุเรียน เมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยว อาจใช้เชือกพวกนี้เป็นรอก ตัดก้านแล้วค่อยๆ สาวเชือกปล่อยลงมาทีละลูก ไม่ต้องโยนลงมา

       ทุเรียนเป็นพืชที่ให้ผลผลิตดี ทำรายได้ดี เกษตรกรจึงเริ่มนำทุเรียนไปปลูกในทุกภาคของไทย และแอบไปไกลถึงจีนตอนใต้โน่นเลย ด้วยความหลากหลายของทุเรียนจึงเป็นไปได้สูงที่จะมีบางพันธุ์ บางต้น ที่เจริญเติบโตได้ดีในภูมิภาคต่างๆ ที่มีอุณหภูมิไม่ต่ำเกินไปและมีความชื้น ที่เป็นไปแล้วใกล้ไปทางเหนือตอนนี้แน่ๆ คือทุเรียนหลง-หลิน พันธุ์ขึ้นชื่อของจังหวัดอุตรดิตถ์ และในปัจจุบัน ก็เริ่มมีการปลูกมากขึ้นใน อ.แม่แตง และ อ.เชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ และยังมีที่ศรีสะเกษ และในภาคอีสานอีกหลายแห่ง แต่ GDH ก็เฉลยมาแล้วว่าสวนทุเรียนใน “วิมานหนาม” ที่จริงแล้วอยู่ในจังหวัดตราด ซึ่งลักษณะภูมิอากาศของจังหวัดในภาคตะวันออกมีความคล้ายคลึงกับทางภาคใต้ของไทยซึ่งเหมาะสมกับการปลูกทุเรียนอยู่แล้ว เพราะใกล้เคียงกับถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติบนเกาะบอร์เนียว แหลมมลายู และจังหวัดชายแดนใต้ของไทย

       แอบแถมเกร็ดความรู้เกี่ยวกับทุเรียนส่งท้าย ที่จริงแล้วหนามทุเรียนไม่ใช่ Thorn เพราะคำว่า Thorn มีความหมายถึงหนามที่เกิดจากกิ่ง เช่น หนามต้นส้ม ต้นมะนาว มักมีขนาดใหญ่และแข็งมาก ส่วนหนามที่เกิดจากเนื้อเยื่อผิว เรียกว่า Prickle เช่น หนามกุหลาบ ปลิดออกได้ง่ายแค่สะกิดเบาๆ แต่มีอีกคำหนึ่งที่ใช้เรียกหนาม คือคำว่า Spine หมายถึงหนามที่เกิดจากใบ เช่น หนามต้นกระบองเพชร ซึ่งเปลี่ยนแปลงลดรูปมาจากใบเพื่อลดการคายน้ำ ส่วนผลนั้นก็เจริญมาจากรังไข่ที่เมื่อได้รับการผสมแล้วติดเมล็ดภายใน ผลก็จะขยายออก ผลของพืชดอกเกิดขึ้นเมื่อราว 100 ล้านปีที่แล้ว โดยมีวิวัฒนาการมาจากใบที่ห่อหุ้มปกป้องเมล็ดไว้ ร่ายมาอย่างยาว เพื่อจะบอกว่า หนามทุเรียนอยู่บนเปลือกผลซึ่งเปลี่ยนมาจากใบ จึงควรเรียกว่า Spine ถ้าหากให้นักพฤกษศาสตร์ตั้งชื่อภาษาอังกฤษของหนังเรื่องวิมานหนาม เรื่องนี้คงไม่ได้ใช้ชื่อว่า “The Paradise of Thorns” แต่จะกลายเป็น “The Paradise of Spines” แทน