การเพิ่มประสิทธิภาพการวิเคราะห์ด้วยกล้องแสงโพลาไรซ์ ในการตรวจหาผลึกโรคเกาต์ ด้วยการละลายในฟอร์มาลินและกรดเอธิเลนไดอะมีน เตตระอะซิติก

Improved polarized light microscopic detection of gouty crystals via dissolution with formalin and ethylenediamine tetraacetic acid

       โรคเกาต์ เป็นหนึ่งในโรคข้ออักเสบยอดฮิตที่น่าจะคุ้นหูหลาย ๆ คน สาเหตุของโรคนี้เกิดจากการที่ร่างกายมีกรดยูริก (Uric acid) ในเลือดสูงเป็นเวลานาน จนเกิดการตกตะกอนเป็นผลึก โมโนโซเดียมยูเรต (Monosodium Urate) สะสมอยู่ตามข้อ ส่งผลให้เกิดการอักเสบขึ้นตามข้อในร่างกาย โดยเฉพาะข้อหัวแม่เท้า ข้อเท้า ข้อเข่าข้อมือ และข้อศอก ที่พบการอักเสบได้บ่อย และมีอาการเจ็บปวดแบบเรื้อรัง

       และหนึ่งในโรคที่มีอาการคล้ายกับโรคเกาต์ก็คือ โรคเกาต์เทียม ที่เป็นโรคข้ออักเสบเช่นกัน แต่มีความแตกต่างอยู่ที่สาเหตุของการอักเสบนั้นเกิดจากผลึกเกลือแคลเซียมไพโรฟอสเฟต (calcium pyrophosphate)

       เนื่องจากทั้งสองโรคมีอาการปวดที่คล้ายกันมาก นอกจากการตรวจระดับกรดยูริกในเลือดแล้ว การวินิจฉัยโรคเกาต์จึงต้องอาศัยการตรวจน้ำไขข้อ เพื่อบ่งชี้ชนิดของผลึกที่เป็นสาเหตุของโรคอย่างชัดเจน ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถหาวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุดได้

       ทีมวิจัยจึงได้คิดค้นวิธีการบ่งชี้ผลึก โดยการดูกระบวนการละลายของผลึกที่แตกต่างกัน ซึ่งผลการศึกษาพบว่า ผลึกโมโนโซเดียมยูเรต ที่เป็นสาเหตุของโรคเกาต์ จะละลายได้ดีในสารละลายฟอร์มาลิน แต่ผลึกแคลเซียมไพโรฟอสเฟตที่เป็นสาเหตุของโรคเกาต์เทียม จะละลายได้ดีในสารละลายกรดเอธิเลนไดอะมีน เตตระอะซิติก หรือ EDTA ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้กับกล้องจุลทรรศน์แสงโพลาไรซ์ที่เป็นวิธีมาตรฐานในการตรวจวิเคราะห์ทั่วไปได้

การศึกษาเพื่อหา วิธีการบ่งชี้ผลึกที่นำเสนอในงานวิจัยนี้ จึงถือเป็นการจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจวินิจฉัย รวมทั้งการรักษาผู้ป่วยที่เจ็บปวดจากกลุ่มโรคข้ออักเสบชนิดเกาต์ให้แม่นยำและสะดวกมากยิ่งขึ้น

SDGs หลัก
สร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับทุกคนในทุกวัย (Ensure healthy lives and promote well-being for all at all ages)