การให้โกรทฮอร์โมนระยะสั้นต่อการเปลี่ยนแปลงของการแสดงออกของยีนที่เกี่ยวข้องกับการนำกรดไขมันเข้าเซลล์ตับและการสร้างไขมันในตับ ในหนูแรทที่มีภาวะอ้วน

Short-Term Growth Hormone Administration Mediates Hepatic Fatty Acid Uptake and De Novo Lipogenesis Gene Expression in Obese Rats

       ภาวะอ้วนไม่ใช่เรื่องใหม่ และอาจจะไม่ใช่เรื่องใหญ่ในความรู้สึกของใครหลายคน เมื่อกินอาหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารพลังงานสูง แล้วไม่ใช้พลังงานให้เหมาะสม โดยทั่วไปแล้วภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกินสามารถพิจารณาได้จากดัชนีมวลกาย ซึ่งในผู้ที่มีน้ำหนักเกินจะมีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 25 kg/m2 ส่วนผู้ที่มีภาวะอ้วน จะมีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 30 kg/m2

       ภาวะอ้วนมีความเกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางระบบเผาผลาญของร่างกาย หรือระบบเมตาบอลิซึมหลายอย่าง รวมทั้งส่งผลต่อการเกิดโรคและความผิดปกติในระบบอื่น ๆ ของร่างกาย โดยมีการสะสมของเนื้อเยื่อไขมันในปริมาณมาก ซึ่งสามารถกระตุ้นการอักเสบอย่างต่อเนื่อง และส่งผลให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ที่นำไปสู่โรคเบาหวานชนิดที่ 2 นอกจากนั้นการสะสมของไขมันที่ตับยังนำไปสู่ภาวะไขมันพอกตับ ส่งผลให้เกิดภาวะอักเสบเรื้อรัง สาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งตับในอนาคต และยังส่งผลต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด อีกด้วย

       คนที่มีภาวะอ้วนยังมีระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไปเมื่อเทียบกับคนที่ไม่อ้วน โดยมีระดับโกรทฮอร์โมนลดลง ในขณะที่ระดับอินซูลิน และเลปตินเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลต่อการเผาผลาญน้ำตาลกลูโคสและไขมันที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย

ในการศึกษานี้ ทีมวิจัยได้ทดลองให้โกรทฮอร์โมนแก่หนูอ้วน เปรียบเทียบกับกลุ่มหนูผอมที่ถูกควบคุมอาหารเป็นเวลา 3 วันต่อเนื่องกัน และตรวจสอบการทำงานของเซลล์ในระดับยีน

       ผลการวิจัยพบว่าการให้โกรทฮอร์โมนระยะสั้น เป็นเวลา 3 วันต่อเนื่อง สามารถลดการแสดงออกของยีนที่เกี่ยวข้องกับการนำไขมันเข้าสู่เซลล์ตับและการสร้างไขมันที่ตับในหนูอ้วนและหนูกลุ่มควบคุม และเพิ่มการแสดงออกของยีนที่เกี่ยวข้องกับการสลายไขมันที่ตับเป็นพลังงานในหนูอ้วน ซึ่งจะช่วยลดการสะสมของไขมันภายในตับได้

       ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าการให้โกรทฮอร์โมนในระยะสั้นจะช่วยชะลอการเกิดภาวะไขมันพอกตับได้ ซึ่งอาจพัฒนาไปเป็นทางเลือกในการรักษาภาวะอ้วนและภาวะไขมันพอกตับได้ในอนาคต

SDGs หลัก
สร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับทุกคนในทุกวัย (Ensure healthy lives and promote well-being for all at all ages)