ผู้ดำเนินการร่วม

การขยายพันธุ์ในสภาพห้องปฏิบัติการและการประเมินความเชื่อถือได้ของพันธุกรรมของพืช Hedychium longicornutum Griff. ex Baker พืชวงศ์ Zingiberaceae ที่เป็นพืชที่อยู่ในสถานะที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในประเทศไทย

In Vitro Propagation and Genetic Fidelity Assessment of Hedychium longicornutum Griff. ex Baker, a Vulnerable Zingiberaceous Plant of Thailand

       โลกของเรามีสิ่งมีชีวิตกว่า 1 ล้านชนิดที่กำลังเผชิญหน้ากับการสูญพันธุ์จากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง และจากการคุกคามของมนุษย์ คงจะดีไม่น้อยถ้าหากเราสามารถรักษาความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตพร้อมกับต่อยอดนำสิ่งเหล่านั้นมาพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

       ปุดเดือน ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hedychium longicornutum Griff. ex Baker ก็เป็นหนึ่งในพืชวงศ์ขิงที่มีจำนวนในธรรมชาติน้อยจนมีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ (Vulnerable: VU) ตามเกณฑ์ของ IUCN พืชชนิดนี้นอกจากจะถูกใช้เป็นยาแผนโบราณแล้ว ความสวยงามและโดดเด่นของดอกทำให้ปุดเดือนมีศักยภาพที่จะส่งเสริมให้เป็นพืชเศรษฐกิจในกลุ่มไม้ประดับได้อีกด้วย

       ทีมวิจัยจึงศึกษาวิธีการขยายพันธุ์ปุดเดือนในห้องปฏิบัติการโดยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช เพื่อใช้งานในเชิงพาณิชย์และการอนุรักษ์พันธุกรรมของพืช โดยเริ่มจากเพาะเมล็ดเพื่อให้ได้ต้นปลอดเชื้อในหลอดทดลอง และหาสูตรอาหารที่เหมาะสมต่อการขยายพันธุ์ให้ได้จำนวนมาก รวมถึงประเมินความคงตัวทางพันธุกรรมของต้นที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเปรียบเทียบกับต้นแม่พันธุ์ที่เจริญในธรรมชาติ

       ซึ่งผลการทดสอบ หลังจากเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อปุดเดือนด้วยอาหารสูตร Murashige and Skoog, 1962 (MS) ที่เติมสารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชชนิด N6-benzyladenine (BA) หรือ thidiazuron (TDZ) ในความเข้มข้น 0-35 ไมโครโมลาร์  

พบว่า สูตรอาหารที่เหมาะกับการเพาะเลี้ยงปุดเดือนมากที่สุด คือ MS ที่มี BA เข้มข้น 15 ไมโครโมลาร์ โดยสามารถชักนำให้เกิดยอดใหม่ได้ 9.75 ยอด ต่อชิ้นพืช และยอดใหม่ที่เกิดขึ้นมีความสูง 9.54 เซนติเมตร

       นอกจากนั้นทีมวิจัยได้ประเมินความคงตัวทางพันธุกรรม เพื่อศึกษาการกลายพันธุ์ที่อาจเกิดขึ้นได้จากการขยายพันธุ์พืชโดยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งอาจทำให้พืชที่ได้จากการขยายพันธุ์ด้วยวิธีนี้มีลักษณะผิดเพี้ยนไปจากต้นกำเนิด ผลการประเมินพบว่า ปุดเดือนที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมเมื่อเทียบกับต้นแม่ 

       การทดลองครั้งนี้จึงเป็นครั้งแรกที่นักพฤกษศาสตร์สามารถขยายพันธุ์ปุดเดือนได้อย่างสมบูรณ์ด้วยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งวิธีนี้สามารถนำไปใช้ในการขยายพันธุ์พืชเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในธุรกิจต่าง ๆ และช่วยอนุรักษ์ปุดเดือนอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

SDGs หลัก

ปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ต่อสู้การกลายสภาพเป็นทะเลทราย หยุดการเสื่อมโทรมของที่ดินและฟื้นสภาพกลับมาใหม่ และหยุดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (Protect, restore and promote sustainable use of terrestrial ecosystems, sustainably manage forests, combat desertification, and halt and reverse land degradation and halt biodiversity loss)