การเปลี่ยนแปลงการแสดงออกของไฟโบรบลาสต์โกรทแฟกเตอร์-23 และการดูดซึมแคลเซียมผ่านเยื่อบุผิวลำไส้เพาะเลี้ยงโดยตัวรับแคลเซียมและแคลซินิวรินภายใต้สภาวะการดูดซึมแคลเซียมสูง

Modulation of fibroblast growth factor-23 expression and transepithelial calcium absorption in Caco-2 monolayer by calcium-sensing receptor and calcineurin under calcium hyperabsorptive state

สภาวะการดูดซึมแคลเซียมสูง อาจพบได้เมื่อร่างกายได้รับการกระตุ้นด้วยวิตามินดีรูปกัมมันต์อย่างต่อเนื่องหลาย ๆ วัน ร่วมกับการบริโภคแคลเซียมที่มากกว่าปรกติ อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แคลเซียมทั้งหมดในทางเดินอาหารจะดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย เนื่องจากในสภาวะเช่นนี้ เซลล์เยื่อบุผิวลำไส้เล็กมักจะปรับตัวด้วยกลไกที่ยังไม่ทราบแน่ชัด เพื่อลดอัตราการดูดซึมแคลเซียม จึงเป็นกลไกในการปกป้องร่างกายไม่ให้เกิดพิษจากแคลเซียมที่สูงในเลือด มีความเป็นไปได้ว่า เซลล์เยื่อบุผิวลำไส้น่าจะสร้างสารชีวภัณฑ์หรือโมเลกุล เพื่อช่วยลดการดูดซึมแคลเซียมที่มากเกินความจำเป็น

งานวิจัยเรื่องนี้นำเสนอ บทบาททางสรีรวิทยาของตัวรับแคลเซียม ซึ่งทำงานผ่านเอนไซม์ภายในเซลล์ชื่อ แคลซินิวริน จากนั้นทำให้เซลล์สร้างโมเลกุลชื่อ ไฟโบรบลาสต์โกรทแฟกเตอร์-23 

กล่าวคือ เมื่อเซลล์เยื่อบุผิวลำไส้สัมผัสแคลเซียม ตัวรับแคลเซียมบนเยื่อหุ้มเซลล์จะทำหน้าที่ตรวจรับแคลเซียมภายนอกเซลล์ และส่งสัญญาณเซลล์สร้างไฟโบรบลาสต์โกรทแฟกเตอร์-23 มาช่วยปรับอัตราการดูดซึมแคลเซียมให้เหมาะสม ไม่มากจนเกินความพอดี

งานวิจัยนี้ช่วยยืนยันว่า ร่างกายมีกลไกภายในที่ช่วยป้องกันหรือลดความเป็นพิษจากการบริโภคแคลเซียมปริมาณมาก

SDGs หลัก
สร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับทุกคนในทุกวัย (Ensure healthy lives and promote well-being for all at all ages)