ผู้ดำเนินการร่วม

การยับยั้งการแสดงออกของเอนไซม์ไพรูเวทคาร์บอกซิเลซในเซลล์มะเร็งลำไส้เพาะเลี้ยง HT-29 ด้วยเทคนิค CRISPR-Cas9 ลดการเจริญเติบโตและการเคลื่อนที่ กระตุ้นให้เกิดการตายของเซลล์มะเร็ง และเพิ่มความไวต่อยาเคมีบำบัด 5-fluorouracil และ glutaminase inhibitor

CRISPR Cas9-mediated ablation of pyruvate carboxylase gene in colon cancer cell line HT-29 inhibits growth and migration, induces apoptosis and increases sensitivity to 5-fluorouracil and glutaminase inhibitor

มะเร็งลำไส้เป็นมะเร็งที่พบมากและเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ทั่วโลก เนื่องจากการเจริญเติบโตที่รวดเร็วเซลล์มะเร็งจึงมีการปรับเปลี่ยนขบวนการเมตาบอลิซึมพื้นฐานของเซลล์เพื่อสนับสนุนขบวนการสังเคราะห์สารมหโมเลกุล ได้แก่ ไขมัน กรดอะมิโน และนิวคลีโอไทด์ เพื่อใช้เป็นโครงสร้างพื้นฐานของเซลล์ที่แบ่งตัวขึ้นมาใหม่

เอนไซม์ไพรูเวทคาร์บอกซิเลซ (PC) เป็นเอนไซม์ที่สำคัญที่ช่วยเติมเต็มสารตัวกลางของวงจร TCA ที่จะถูกนำไปใช้สังเคราะห์สารมหโมเลกุลเหล่านั้น จากการศึกษาระดับการแสดงออกของเอนไซม์ PC ในเนื้อเยื่อมะเร็งลำไส้ของผู้ป่วย พบว่าระดับการแสดงออกของเอนไซม์ PC สัมพันธ์กับขนาดของก้อนเนื้อมะเร็ง ความสามารถในการแพร่กระจาย และอัตราการมีชีวิตรอดของคนไข้ จากนั้นคณะผู้วิจัยได้ศึกษาบทบาทสำคัญของเอนไซม์ดังกล่าวต่อการเจริญเติบโตและการแพร่กระจายของมะเร็งลำไส้ โดยยับยั้งการแสดงออกของเอนไซม์ PC ในเซลล์มะเร็งลำไส้เพาะเลี้ยง HT-29 ด้วยเทคนิค CRISPR-Cas9

จากการวิจัยพบว่าเซลล์มะเร็ง HT-29 ที่ถูกยับยั้ง PC มีอัตราการเจริญเติบโตและการเคลื่อนที่ของเซลล์มะเร็งลดลง 50-60% และ 60-70% ตามลำดับ

ซึ่งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งที่ลดลงนี้พบว่าเกี่ยวข้องกับการถูกกระตุ้นให้เกิดการตายของเซลล์ นอกจากนี้คณะผู้วิจัยยังได้ทำการตรวจสอบการแสดงออกของเอนไซม์หลักในกระบวนการสังเคราะห์กรดไขมัน ได้แก่ อะซิธิลโคเอคาร์บอกซิเลซ 1 (ACC1) และ แฟตตีเอซิสซินเทส (FASN) พบว่าการยับยั้งการแสดงออกของ PC ส่งผลให้การแสดงออกของเอนไซม์ดังกล่าวลดลงไปด้วย ดังนั้น การเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งที่ลดลงนี้เกี่ยวข้องกับการขัดขวางกระบวนการสังเคราะห์กรดไขมัน และการถูกชักนำให้เกิดการตายของเซลล์ และเมื่อทำการศึกษาความไวต่อยาเคมีบำบัด 5-fluorouracil และ CB-839 ซึ่งเป็นตัวยับยั้งเอนไซม์ กลูตามิเนส (glutaminase inhibitor) พบว่าเซลล์มะเร็งลำไส้ที่ถูกยับยั้ง PC มีความไวต่อยาเคมีบำบัดทั้ง 2 ตัวมากขึ้นประมาณ 50% และ 60% ตามลำดับ

จากผลการทดลองทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงบทบาททางเมตาบอลิซึมที่สำคัญของเอนไซม์ PC ในการเกื้อหนุนให้เซลล์มะเร็งลำไส้สามารถเพิ่มจำนวนและดำรงชีวิตอยู่ได้ในระหว่างการรักษาด้วยเคมีบำบัด ดังนั้น เอนไซม์ PC อาจเป็นเป้าหมายในการพัฒนายารักษามะเร็งตัวใหม่เพื่อใช้ควบคู่กับยาเคมีบำบัดเพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

SDGs หลัก
สร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับทุกคนในทุกวัย (Ensure healthy lives and promote well-being for all at all ages)
SDGs เป้าประสงค์ย่อย
3.4 ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573
SDGs เป้าประสงค์หลักหรือเป้าประสงค์ย่อยอื่น ๆ
9.5 เพิ่มพูนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ยกระดับขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของภาคอุตสาหกรรมในทุกประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา และให้ภายในปี 2573 มีการส่งเสริมนวัตกรรมและให้เพิ่มจำนวนผู้ทำงานวิจัยและพัฒนา ต่อประชากร 1 ล้านคน และการใช้จ่ายในภาคสาธารณะและเอกชนในการวิจัยและพัฒนาให้เพิ่มมากขึ้น