วาโซแอกทิฟอินเทสทินัลเพปไทด์และซีสติกไฟโบรซิสทรานส์เมมเบรนคอนดักแทนซ์เรกูเรเตอร์เกี่ยวข้องกับการขนส่งแคลเซียมผ่านเยื่อบุผิวลำไส้เพาะเลี้ยงชนิดคาโคทู

Vasoactive intestinal peptide and cystic fibrosis transmembrane conductance regulator contribute to the transepithelial calcium transport across intestinal epithelium-like Caco-2 monolayer

ในอดีตเชื่อกันว่า ลำไส้ดูดซึมแคลเซียมจากอาหารเข้าสู่ร่างกายโดยอาศัยการควบคุมจากฮอร์โมนต่าง ๆ เช่น พาราไทรอยด์ฮอร์โมน และวิตามินดี ต่อมามีการตั้งสมมติฐานว่า ระบบประสาทก็อาจจะช่วยควบคุมอัตราการดูดซึมแคลเซียมของลำไส้ด้วยเช่นกัน

ในงานวิจัยนี้ นักวิจัยใช้โมเลกุลซึ่งปรกติทำหน้าที่เป็นสารสื่อประสาท ที่เรียกว่า วาโซแอกทิฟอินเทสทินัลเพปไทด์ หรือวีไอพี กระตุ้นการทำงานของเซลล์ลำไส้เพาะเลี้ยง ผลการวิจัยพบว่า วีไอพีมีผลเพิ่มอัตราการดูดซึมแคลเซียม ในทางตรงกันข้าม ตัวยับยั้งการทำงานของตัวรับวีไอพีลดผลเชิงบวกของวิตามินดีที่ใช้กระตุ้นการดูดซึมแคลเซียม

จึงสรุปได้ว่า วีไอพีสามารถกระตุ้นเซลล์เยื่อบุผิวลำไส้ให้ดูดซึมแคลเซียมเพิ่มขึ้น

แม้ว่าจะยังไม่ทราบแน่ชัดว่า เหตุใดวีไอพีจึงกระตุ้นการดูดซึมแคลเซียมได้ แต่มีความเป็นไปได้ว่า เกี่ยวข้องกับโปรตีนอีกชนิดที่เรียกว่า ซีเอฟทีอาร์ เนื่องจากในภาวะปรกติ วีไอพีสามารถเพิ่มการทำงานของซีเอฟทีอาร์ได้ด้วย ดังนั้น จึงทดลองใช้ตัวยับยั้งซีเอฟทีอาร์กับเซลล์เยื่อบุผิวลำไส้ ซึ่งพบว่า เมื่อซีเอฟทีอาร์ทำงานน้อยลง ก็ทำให้อัตราการดูดซึมแคลเซียมลดลงตามไปด้วย ส่วนสารกระตุ้นซีเอฟทีอาร์สามารถใช้เพิ่มอัตราการดูดซึมแคลเซียมได้ ในงานวิจัยเรื่องนี้ มีการใช้เทคนิคทางวิศวกรรมคอมพิวเตอร์เพื่อทำนายการเทียบโมเลกุลตัวกระตุ้นและตัวยับยั้งซีเอฟทีอาร์ ซึ่งช่วยยืนยันว่า สารเคมีที่ใช้สามารถจับกับซีเอฟทีอาร์ได้โดยตรง และยังช่วยสนับสนุนการนำเทคโนโลยีอินซิลิโค ซึ่งเป็นการวิเคราะห์โมเลกุลในระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง มาใช้ต่อยอดในงานด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์อีกด้วย

SDGs หลัก
สร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับทุกคนในทุกวัย (Ensure healthy lives and promote well-being for all at all ages)