รอบรู้เรื่องกัญชา รู้จักกัญชาพันธุ์ไทย และการใช้กัญชาทางการแพทย์

บทความใช้เวลาอ่านโดยประมาณ 8 นาที

กระแสกัญชาฟีเว่อร์

 

ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “กัญชา” เป็นหนึ่งในพืชที่มาแรงในปีนี้ หลังจากที่มีราชกิจจานุเบกษา ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ระบุให้ยกเว้นพืชกัญชาและกัญชงจากการเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ให้สามารถใช้กัญชาในทางการแพทย์ได้อย่างถูกกฎหมาย และตอนนี้ได้มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป พร้อมเปิดให้สามารถปลูกกัญชาในครัวเรือน ปลูกในเชิงพาณิชย์ได้ โดยให้เข้าไปจดแจ้งผ่านแอปพลิเคชัน “ปลูกกัญ” ขององค์การอาหารและยา (อย.) และที่เว็บไซต์ https://plookganjaweb.fda.moph.go.th/ รวมถึงสามารถผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพเพื่อจำหน่าย ในรูปแบบอาหาร เครื่องสำอาง และยาสมุนไพรได้แต่ต้องขออนุญาตกับ อย. ก่อน ทำให้หลายคนที่มีต้นกัญชาอยู่แล้วเร่งดำเนินการตามประกาศหวังใช้กัญชารักษาอาการเจ็บป่วย สร้างรายได้ หรือใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์อาหารและยาต่าง ๆ ส่วนคนที่สนใจต่างก็เตรียมสรรหาต้นกัญชามาปลูกไปตาม ๆ กัน

ต้นกำเนิดการใช้กัญชา

 

ก่อนที่จะมีกระแสกัญชาฟีเว่อร์ มนุษย์รู้จักใช้ประโยชน์จาก “กัญชา” มาช้านาน เริ่มจากใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรค ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา แล้วหลังจากนั้นจึงเรียนรู้ที่จะใช้กัญชาเพื่อนันทนาการ คาดว่ากัญชามีถิ่นกำเนิดในเอเชียกลางหรือจีนตะวันตก หลังจากนั้นมีการกระจายจากจีนไปทั่วโลกผ่านการค้าขาย และอพยพย้ายถิ่นของประชากร มีหลักฐานพบว่าเมื่อ 4,800 ปีก่อน ชาวจีนมีการนำกัญชามาชงเป็นชา โดยได้บรรยายสรรพคุณเป็นหลักฐานเอาไว้ในตำรับยาจีนสมัยโบราณกาล ต่อมาได้พบหลักฐานอีกว่า 2,500 ปีก่อน ชาวจีนยังนำกัญชามาใช้เพื่อประกอบพิธีเกี่ยวกับเทพเจ้า และยังพบการใช้กัญชาประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในกลุ่มชาวอาหรับโบราณ ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ในกลุ่มชาวอินเดีย และเสพเพื่อความบันเทิงในกลุ่มชาวไซเธียน รวมถึงชาวกรีกและโรมันอีกด้วย

ประเทศไทยเองก็ได้รับการถ่ายทอดความรู้จากอารยธรรมจีน อินเดีย และมีการนำกัญชามาใช้ตั้งแต่สมัยอยุธยา ในฐานะสมุนไพร โดยถูกระบุไว้ในตำราแพทย์แผนไทย อย่างตำราโอสถพระนารายณ์ และตำราอื่น ๆ ว่าเป็นส่วนผสมที่ช่วยให้ผ่อนคลายในตำรับยาบรรเทาอาการเจ็บปวด นอนไม่หลับ เป็นต้น

THC และ CBD สารสำคัญในกัญชาและการออกฤทธิ์

 

กัญชาเป็นพืชในสกุล  Cannabis  มีสารสำคัญหลายกลุ่ม ได้แก่ ฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) เทอร์ปีน (Terpenes) และแคนนาบินอยด์ (Cannabinoids) ซึ่งมีการศึกษาพบว่าร่างกายของเราก็มีสารกลุ่มแคนนาบินอยด์อยู่แล้ว สารกลุ่มนี้เป็นสารสื่อประสาทที่สลายตัวได้อย่างรวดเร็ว ผลิตขึ้นมาเฉพาะกิจ มีหน้าที่ควบคุมและปรับสมดุลให้กับระบบสําคัญต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น ควบคุมอุณหภูมิ ควบคุมความเจ็บปวด ควบคุมกระบวนการเผาผลาญไขมัน และกลูโคส รักษาสมดุลพลังงานของร่างกาย รักษาสมดุลของการเคลื่อนไหว อัตราการเต้นของหัวใจ ระบบความดันเลือด ฯลฯ ผ่านการทำงานเป็นระบบโดยจับกับตัวรับที่ชื่อ CB1 และ CB2 ซึ่งกระจายอยู่ทั่วร่างกายโดยเฉพาะในสมอง เราเรียกระบบการทำงานของแคนนาบินอยด์ในร่างกายว่าระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์ (Endocannabinoid System) ดังนั้นจึงไม่แปลกที่กัญชาจะมีผลต่อร่างกายมนุษย์

ด้วยคุณสมบัติของแคนนาบินอยด์จากกัญชานั้นสามารถอยู่ในร่างกายได้นานกว่าแคนนาบินอยด์ที่ร่างกายสร้างเอง ถ้าอยู่ในไขมันจะอยู่ได้นานกว่า 1 สัปดาห์ เมื่อไปจับกับตัวรับ CB1 และ CB2 ในส่วนต่าง ๆ ของสมองซึ่งควบคุมการทำงานของร่างกายจะทำให้ช่วยเพิ่มและลดอาการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ได้ ซึ่งในบรรดาสารสำคัญในกลุ่มแคนนาบินอยด์ที่มีมากกว่า 480 ชนิดนั้น เตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol) หรือ THC และ สารแคนนาบิไดออล (Cannabidiol) หรือ CBD ถือว่าเป็นตัวเอกที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากวงการแพทย์

โดย THC สามารถช่วยแก้อาเจียน เพิ่มความอยากอาหาร คลายกังวล, ลดความทรมานจากความเจ็บปวด แก้ปวด คลายกล้ามเนื้อ และง่วงซึม แต่อีกด้านหนึ่งก็สามารถไปกระตุ้นอาการที่ไม่พึงประสงค์ได้เช่นกันเมื่อจับกับตัวรับที่สมองส่วนที่มีผลต่อจิตประสาท ทำให้เคลิ้มสุข อารมณ์ผิดปกติ มีอาการทางจิต หวาดระแวง ประสาทหลอน หรือส่วนที่มีผลต่อสติปัญญา ทำให้การตัดสินใจบกพร่อง คิดอ่านช้า  ความจำบกพร่อง เพิ่มความเสี่ยงซึมเศร้า การสั่งการกล้ามเนื้อและการประสานการเคลื่อนไหวบกพร่อง เป็นต้น และที่สำคัญ THC มีฤทธิ์เสพติดได้จึงต้องใช้ปริมาณมากขึ้นเพื่อให้ได้ผลเหมือนเดิม ในขณะที่ CBD ไม่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท และไม่มีฤทธิ์เสพติด สามารถต้านฤทธิ์ประสาทหลอนของ THC ได้ ทำให้สงบ ลดอาการวุ่นวาย ลดปวด และลดการอักเสบได้ แต่ทำให้เบื่ออาหารและคลื่นไส้ได้

ส่วนไหนของกัญชาที่มีสารออกฤทธิ์

 

ลักษณะของกัญชาในทางพฤษศาสตร์จัดเป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี ลำต้นตั้งตรง หากปลูกในโรงเรือนจะมีการตัดแต่งกิ่งเพื่อให้มีช่อดอกจำนวนมากโดยความสูงประมาณ 1.5 – 2.0 ม. แต่หากอยู่ในธรรมชาติจะสูงได้มากกว่า 3 ม. มีเปลือกต้นสีเขียวอมเทาและมีหลายกิ่ง ใบเป็นใบเดี่ยวรูปฝ่ามือ เรียงแบบสลับ ประกอบด้วย 5 – 7 ใบย่อย แต่ละใบย่อยเป็นรูปยาวรีกว้าง 0.3 – 1.5 ซม. ยาว 6 -10 ซม. ขอบใบจักฟันเลื่อย แผ่นใบด้านบนสีเข้มกว่าด้านล่าง ดอกแยกเพศอยู่ต่างต้น ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและปลายยอด ช่อดอกแบบแขนง บานจากล่างขึ้นบน ดอกมีขนาดเล็ก ดอกเพศผู้มีกลีบรวม 5 กลีบแยกและเกสรเพศผู้ 5 อัน ดอกเพศเมียมีกลีบรวมเชื่อม 1 ชิ้น ก้านเกสรเพศเมีย 1 อัน ก้านชูเกสร 2 เส้น ผลแห้งเมล็ดล่อน เล็กและเรียบ สีน้ำตาล

จากส่วนต่าง ๆ ของกัญชาที่กล่าวมาทุกส่วนล้วนมีสาร THC และ CBD แต่จะ มีมากเป็นพิเศษในช่อดอกกัญชาเพศเมีย บนดอกจะมีส่วนที่เรียกว่า “ไตรโคม” เป็นขนสีขาวบนดอกกัญชาและใบลดรูป ทำหน้าที่สะสมสารสำคัญ เมื่อส่องดูใต้กล้องจุลทรรศน์กำลังขยายไม่ต่ำกว่า 100 เท่า พบว่าเซลล์ขนประกอบด้วยรยางค์ผิวแบบมีต่อม (glandular trichome) และมีก้านชู ปลายมีกระเปราะคล้ายลูกแก้วสีใส ซึ่งเมื่อมีความสมบูรณ์เต็มที่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีขาวขุ่นจนถึงสีอำพัน ทั้งนี้กัญชาแต่ละพันธุ์ก็จะมีขนาดและลักษณะช่อดอก รวมถึงปริมาณ THC และ CBD มากน้อยต่างกันไปด้วย

สายพันธุ์กัญชาที่พบในประเทศไทย และศักยภาพที่จะนำมาใช้เป็นกัญชาทางการแพทย์

 

สำหรับกัญชาสายพันธุ์ที่พบในประเทศไทย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศศิวิมล แสวงผล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิษุวัต สงนวล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัญชีรา วิบูลย์จันทร์ และนางสาววันดี อินตะ นักศึกษาปริญญาเอกสาขาพฤกษศาสตร์ ทีมนักวิจัยจากภาควิชาพฤกษศาสตร์  คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ศึกษาทางด้านสัณฐานวิทยาของกัญชา ภายใต้โครงการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พิจารณาลักษณะ ใบ ดอก ผล ศึกษากัญชาไทยไปแล้ว 4 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์หางกระรอกภูพานเอสที 1, พันธุ์หางเสือสกลนครทีที 1, พันธุ์ตะนาวศรีก้านขาวดับเบิลยูเอ 1  และพันธุ์ตะนาวศรีก้านแดงอาร์ดี 1

ประกอบกับผลการวิจัยจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร ที่ทำการศึกษาทางด้านเคมี และข้อมูลทางด้านสารพันธุกรรม โดยเทียบกับสารพันธุกรรมของกัญชาสายพันธุ์ไทยกับฐานข้อมูลของกัญชาทั่วโลกพบว่า กัญชาพันธุ์ไทยถือเป็นพันธุ์หายากและพบได้มากบริเวณเทือกเขาภูพาน จังหวัดสกลนคร และบริเวณเทือกเขาตะนาวศรี คาดว่ากัญชาพันธุ์ที่พบในประเทศไทยน่าจะถูกนำมาจากทางจีนตอนใต้ และมีการนำไปแยกปลูกในต่างพื้นที่ทำให้มีความหลากหลายทั้งลักษณะสัณฐานวิทยา และปริมาณสารสำคัญที่ได้ โดยแต่ละพันธุ์มีลักษณะพิเศษ ดังนี้

พันธุ์หางกระรอกภูพานเอสที 1

พันธุ์หางกระรอกภูพานเอสที 1

Cr. ภาพโดย นางสาววันดี อินตะ

 

มีช่อดอกใหญ่และเรียงกันแน่นเป็นพวงทรงสามเหลี่ยมคล้ายหางกระรอก ให้สาร THC และ CBD ในสัดส่วน 1:1 ได้ในปริมาณมาก จึงเป็นพันธุ์ที่มีการศึกษาวิจัยในทางการแพทย์มากที่สุด มีกลิ่นเฉพาะตัวหอมคล้ายมะม่วงสุก และไม่มีกลิ่นฉุน ก้านคล้ายกับพันธุ์ตะนาวศรีก้านขาว

พันธุ์หางเสือสกลนครทีที 1

พันธุ์หางเสือสกลนครทีที 1

Cr. ภาพโดย นางสาววันดี อินตะ

 

มีช่อดอกเล็กและเรียวยาวเป็นพวงยาวคล้ายหางเสือ ให้สาร THC สูง มีกลิ่นเฉพาะตัวหอม คล้ายเปลือกส้ม และมีกลิ่นฉุนเล็กน้อย

พันธุ์ตะนาวศรีก้านขาวดับเบิลยูเอ 1

พันธุ์ตะนาวศรีก้านขาวดับเบิลยูเอ 1

Cr. ภาพโดย นางสาววันดี อินตะ

 

มีช่อดอกจำนวนมาก การเรียงตัวเป็นแบบทรงกระบอกกระจุกแน่นที่ปลายกิ่ง ทรงต้นที่เป็นพุ่ม ให้สาร THC สูง มีกลิ่นที่เฉพาะตัวหอมคล้ายเปลือกส้มผสมกลิ่นตะไคร้ กลิ่นฉุนน้อยกว่าพันธุ์หางเสือสกลนครทีที 1

พันธุ์ตะนาวศรีก้านแดงอาร์ดี 1

พันธุ์ตะนาวศรีก้านแดงอาร์ดี 1

Cr. ภาพโดย นางสาววันดี อินตะ

 

มีช่อดอกจำนวนมากเช่นเดียวกับพันธุ์ตะนาวศรีก้านขาวดับเบิลยูเอ 1 แตกต่างกันที่กิ่ง ก้าน และก้านใบ เป็นสีแดง ให้สาร CBD สูง มีกลิ่นหอมหวานคล้ายกลิ่นผลไม้สุกไม่มีกลิ่นฉุน

ด้วยคุณสมบัติเฉพาะตัวทำให้กัญชาไทยเหมาะกับการนำมาใช้ทางการแพทย์ที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับข้อบ่งชี้ของแต่ละโรคนั่นเอง

สิ่งที่เราต้องรู้

 

ถึงแม้ว่ากัญชาจะมีประโยชน์ทางการแพทย์ แต่ก็มีผลกระทบต่อร่างกายและสังคมที่ไม่อาจมองข้ามได้ ข้อมูลจากการเสวนา “กัญชา…ความจริงต้องรู้” โดยมหาวิทยาลัยมหิดล รายงานว่าการใช้กัญชาไปขัดขวางกระบวนการเรียนรู้ของสมอง ส่งผลให้มีสติปัญญาและการตัดสินใจแย่กว่าคนที่ไม่ใช้กัญชา โดยเฉพาะวัยรุ่นซึ่งอยู่ในช่วงที่สมองส่วนของความจำ การคิดและตัดสินใจกำลังพัฒนา เป็นเหตุให้ในหลายประเทศไม่อนุญาตให้คนที่มีอายุน้อยกว่า 25 ปี ใช้กัญชา

นอกจากนั้นยังมีผลการศึกษาประสิทธิภาพการรักษาอาการต่าง ๆ ของสารสกัดจากกัญชา เทียบกับยาหลอก และยาที่ใช้รักษาเป็นมาตรฐานพบว่า ในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งปอดที่มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร การใช้สารสกัด THC ช่วยให้ทานอาหารได้ดีกว่ายาหลอก แต่น้อยกว่ายามีเจสทรอล (Megestrol) ซึ่งเป็นยามาตรฐานที่ช่วยลดอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร

ส่วนในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งที่มีอาการปวดเรื้อรัง พบว่าสารสกัด THC ลดอาการปวดได้มากกว่ายาหลอก แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ มีอีกการศึกษาพบว่า THC ลดปวดได้ไม่ต่างจากยาลดปวดมาตรฐาน เช่นยาโคดีน (Codeine) หรือยากาบาเพนติน (Gabapentin) โดย THC 10 มก. ลดปวดได้เท่ากับ THC 20 มก. แต่ที่ขนาดสูงพบผลข้างเคียง เช่น ง่วงซึม เซ ตาพร่ามัว เวียนศีรษะมากกว่า

ด้านการรักษาโรคลมชัก โดยปกติจะใช้ยากันชักมาตรฐานก่อน ซึ่งได้ผลดีคือสามารถคุมอาการชักได้ 95% ของประชากร อย่างไรก็ดีมีโรคลมชักดื้อยาในประชากรจำนวนน้อย พบว่าการได้ CBD เสริมจากยากันชักมาตรฐาน ช่วยลดอาการชักได้ประมาณ 50% แต่ก็มีคนไข้ส่วนใหญ่ได้รับผลข้างเคียงด้วย โดยผลข้างเคียงที่พบบ่อยได้แก่ ง่วงซึมและท้องเสีย

นอกจากนี้ THC และ CBD อาจมีปฏิกิริยากับยาชนิดอื่น จึงยังคงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคต ดังนั้น กัญชา จึงไม่ใช่ตัวเลือกแรกของการรักษา แต่เป็นทางเลือกเมื่อรักษาด้วยวิธีแบบปกติอย่างเต็มที่แล้วไม่ได้ผล และการพิจารณาใช้กัญชาจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น

แหล่งข้อมูล :

นักวิจัยในบทความ

Researcher

นางสาววันดี อินตะ

นักศึกษาปริญญาเอกสาขาพฤกษศาสตร์

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ศึกษาวิจัยสัณฐานวิทยาของกัญชาและกัญชง
e-mail: wandee.ina@student.mahidol.edu

researcher

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศศิวิมล แสวงผล

อาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ศึกษาวิจัยสัณฐานวิทยาของกัญชาและกัญชง
e-mail: sasivimon.swa@mahidol.ac.th

researcher

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิษุวัต สงนวล

อาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ศึกษาวิจัยสัณฐานวิทยาของกัญชาและกัญชง
e-mail: wisuwat.son@mahidol.ac.th

researcher

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัญชีรา วิบูลย์จันทร์

อาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ศึกษาวิจัยสัณฐานวิทยาของกัญชาและกัญชง
e-mail: unchera.vib@mahidol.ac.th

นักวิจัยกัญชาและกัญชงในคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Researcher

รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐินี พันธ์วิศวาส

อาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์

ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการตรวจพิสูจน์พันธุกรรม

และเคมีเพื่อแยกพืชกัญชาและกัญชงในทางนิติวิทยาศาสตร์

e-mail: nathinee.pan@mahidol.ac.th