ผลงานวิจัยที่ได้รับประโยชน์


การวิจัยเพื่อกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์แผ่นยางรองรางรถไฟ

แผ่นยางรองรางรถไฟเป็นผลิตภัณฑ์ยางทางวิศวกรรมที่ใช้วางระหว่างหมอนรองรางกับรางรถไฟเพื่อลดการสั่นสะเทือนขณะที่รถไฟเคลื่อนที่ผ่านและช่วยยืดอายุการใช้งานของทั้งรางรถไฟและหมอนรองราง แม้ว่าปริมาณการใช้งานของแผ่นรองรางรถไฟมีแนวโน้มสูงขึ้นตามความต้องการภายในประเทศ แต่ปัจจุบันยังไม่มีมาตรฐานอุตสาหกรรมของแผ่นยางรองรางรถไฟดังกล่าว ทำให้ผู้ใช้ต้องอาศัยเพียงข้อกำหนดด้านคุณภาพของบริษัทผู้ผลิตหรือข้อกำหนดคุณภาพที่เคยใช้กันมาตั้งแต่อดีต ซึ่งมักจะกำหนดให้แผ่นยางรองรางรถไฟต้องทำจากยางสังเคราะห์เพราะผู้ผลิตในต่างประเทศส่วนใหญ่ใช้ยางสังเคราะห์เป็นวัตถุดิบในการผลิต อย่างไรก็ดี การกำหนดให้ใช้ยางสังเคราะห์เป็นวัตถุดิบดังกล่าวส่งผลทำให้ผู้ผลิตของไทย ไม่สามารถนำยางธรรมชาติซึ่งเป็นทรัพยากรเศรษฐกิจหลักของประเทศไปใช้ในการผลิตแผ่นยางรองรางรถไฟได้ ดังนั้นโครงการวิจัยนี้จึงดำเนินการวิจัยเพื่อสนับสนุนการนำยางธรรมชาติมาใช้ในการผลิตแผ่นยางรองรางรถไฟ โดยนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ในการจัดทำร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์แผ่นยางรองรางรถไฟ เพื่อส่งมอบให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) นำไปพิจารณาประกาศใช้เป็นมาตรฐานของประเทศต่อไป

ผลงานวิจัย

ได้จัดทำร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแผ่นยางรองรางรถไฟ โดยทำการทดสอบแผ่นยางรองรางรถไฟในท้องตลาดที่ผลิตโดยบริษัทคนไทย 4 บริษัทและที่ใช้อยู่โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) บริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งชาติ (ร.ฟ.ม.) ในด้านความแข็ง สมบัติการรับแรงดึง ความทนต่อการเสื่อมสภาพ การเปลี่ยนขนาดอย่างถาวรเนื่องจากการรับแรงกดและแรงดึง ความทนต่อโอโซนและความต้านทานไฟฟ้าเชิงปริมาตร แล้วนำผลการศึกษาไปหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อหาข้อสรุปที่จะนำมากำหนดเป็นร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์แผ่นยางรองรางรถไฟ

การนำผลงานไปใช้ประโยชน์

ร่างมาตรฐานที่ได้จัดทำขึ้นได้ส่งมอบให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) นำไปจัดทำเป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์แผ่นยางรองรางรถไฟ มอก. 2667-2558 และประกาศใช้ไปแล้วเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2558