ต้นศรีตรัง : ต้นไม้ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

“ศรีตรัง ฝังใจ
ผูกพันหทัยให้ถือในสัญญา
น้ำเงิน โสภา
ที่เป็นขวัญตาในอาณาจักรเรา”

เพลง ศรีตรัง ประพันธ์คำร้องโดย ครูธาตรี แห่งวงดนตรีสุนทราภรณ์ ประพันธ์ทำนองโดย ครูเอื้อ สุนทรสนาน บอกเล่าเรื่องราวบรรยากาศภายในคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งพอจะอนุมานได้ว่าเมื่อครั้งอดีตน่าจะร่มรื่นไปด้วยดอกศรีตรังสีน้ำเงินอมม่วง

ศรีตรัง หรือ แคฝอย ชื่อวิทยาศาสตร์ Jacaranda mimosifolia D. Don (blue jacaranda, black poui, fern tree) และ Jacaranda obtusifolia Bonpl. (green ebony / jacaranda) เป็นพรรณไม้ท้องถิ่นจากทวีปอเมริกาใต้ เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูงราว 4-10 เมตร เรือนยอดรูปทรงไม่แน่นอน โปร่ง เปลือกต้นสีน้ำตาลปนเทา ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ปลายคี่ ก้านใบรวมยาว 40-50 ซม. ใบย่อยจำนวนมาก เรียงตรงข้าม รูปรีหรือรูปขอบขนานแกมรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ปลายใบแหลม โคนใบมน แผ่นใบทั้งสองด้านขนาดไม่เท่ากัน

ดอกสีน้ำเงินอมม่วง ออกดอกเป็นช่อแขนงขนาดใหญ่ที่ปลายกิ่ง ช่อดอกรูปพีระมิด ยาว 5-9 ซม. ดอกย่อยจำนวนมาก เส้นผ่าศูนย์กลางดอก 1.5-2.5 ซม. โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว 2-4 ซม. ปลายแยกเป็น 5 กลีบ คล้ายรูประฆัง ดอกทยอยบาน มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ผลเป็นฝักแบน กว้าง 1-1.5 ซม. ยาว 2-2.5 ซม. เมื่อแก่จะแตกออกเป็น 2 ซีก เมล็ดแบนขนาดเล็ก มีปีก1

ต้นศรีตรัง นำเข้ามาปลูกครั้งแรกในประเทศไทยที่จังหวัดตรัง เมื่อ พ.ศ. 2444 โดย พระยารัษฎานุประดิษฐ์ (คอซิมบี้ ณ ระนอง) สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต จึงได้รับการตั้งชื่อภายหลังว่า "ศรีตรัง" เป็นชื่อที่ไพเราะและได้ความหมายเหมาะสมอย่างยิ่ง2 จัดเป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานและดอกไม้ประจำจังหวัดตรัง

   

ต้นศรีตรัง ออกดอกสีน้ำเงินอมม่วงสะพรั่งในคณะวิทยาศาสตร์

ต้นศรีตรังมีความเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยมหิดลเมื่อครั้งอดีต แต่เดิมนั้นมหาวิทยาลัยมหิดลยังไม่มีต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย แต่โดยทั่วไปมักเข้าใจว่าเป็นต้นศรีตรัง เนื่องจากมีปลูกอยู่มากมายที่คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ (คณะวิทยาศาสตร์ ในปัจจุบัน) ซึ่งเข้าใจว่าปลูกโดย “อาจารย์สตางค์” ศ. ดร.สตางค์ มงคลสุข คณบดีคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งจากคำบอกเล่าของอาจารย์อาวุโส ลูกศิษย์ของท่านอาจารย์สตางค์ เชื่อได้ว่าศรีตรังเป็นต้นไม้ที่อาจารย์สตางค์ชื่นชอบอย่างมาก3 ด้วยเหตุที่มีศรีตรังอยู่มาก ทำให้ชาวมหิดลถือเอาต้นศรีตรังเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย จนกระทั่งเกิดเพลงศรีตรัง ลาแล้วสีน้ำเงิน ศักดิ์ศรีตรัง ยิ่งตอกย้ำถึงความผูกพันของมหาวิทยาลัยกับต้นศรีตรัง ชาวมหิดลจึงนับต้นศรีตรังเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยอย่างไม่เป็นทางการเรื่อยมา (จนถึง พ.ศ. 2542 ในโอกาสครบรอบ 30 ปี แห่งวันพระราชทานนามมหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้ประกาศให้ ต้นกันภัยมหิดล เป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการ)

ต่อมาเมื่ออาจารย์สตางค์ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ท่านจึงนำต้นศรีตรังมาปลูกภายในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์หลายสิบต้น

นอกจากเพลงศรีตรัง ที่บรรยายถึงต้นศรีตรังภายในคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพลงลาแล้วสีน้ำเงิน เป็นอีกหนึ่งบทเพลงที่มีเนื้อร้องอ้างอิงถึงบรรยากาศในทำนองเดียวกัน โดยมีเนื้อหาท่วงทำนองของการอำลาอาลัยสถาบันอันเป็นที่รัก ซึ่งดารดาษได้ด้วยสีน้ำเงิน ซึ่งน่าจะหมายถึงสีน้ำเงินอมม่วงของดอกศรีตรังนั่นเอง

ในวาระครบรอบ 102 ปี ชาตกาล ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระคุณของท่านผู้ก่อตั้งคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงมีดำริยกให้ ต้นศรีตรัง เป็นต้นไม้ประจำคณะวิทยาศาสตร์ อย่างเป็นทางการ

 

1 https://www.royalparkrajapruek.org/Plants/view?id=834
2 https://www.doctor.or.th/article/detail/5856
3 http://www.psuhistory.psu.ac.th/index.php?option=com_content&view=article&id=262