อาจารย์สตางค์รำลึก

“สตางค์” แปลว่า หนึ่งในร้อย

หลายคนยังสงสัยกันว่าชื่อ สตางค์ นั้น ตั้งใจจะให้หมายถึงสิ่งใดกันแน่จนมากระจ่างเมื่อครั้งที่ คุณอมร ศรีวงศ์ สถาปนิกผู้ออกแบบตึกกลม Landmark สำคัญของคณะวิทยาศาสตร์มาเฉลยเอาในข้อเขียนในหนังสือที่ระลึก “40 ปี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 2501-2541” ว่า

“...ท่านสมภารตั้งชื่อให้ว่า สตางค์ แปลว่า หนึ่งในร้อย…”

ท่านสมภารที่ว่านี้หมายถึงสมภารที่วัดใกล้บ้านเกิดของอาจารย์สตางค์ บริเวณอ่าวแขมหนู จังหวัดจันทบุรี วันที่อาจารย์สตางค์เกิดฝนฟ้าคะนองครั้งใหญ่ มีพายุรุนแรงและมีฟ้าผ่าลงมา จนรุ่งเช้าพบว่าช่อฟ้าหน้าอุโบสถวัดใกล้บ้านหัก พอตกบ่าย ท่านสมภารก็เดินทางมาเยี่ยมถึงที่บ้านและตั้งชื่อให้ว่า “สตางค์”

อาจารย์สตางค์สมัยเด็กนั้นเรียนเก่งมาก มีแววรุ่งอย่างที่ท่านสมภารคาดไว้ แต่ถึงจะเรียนดีอย่างไร ด้วยรายได้ที่ไม่มากมายนัก คุณพ่อของอาจารย์สตางค์จึงคิดจะไม่ให้เรียนต่อระดับมัธยมปลาย ร้อนถึงท่านสมภารรูปเดิมที่เมื่อรู้ข่าวก็เดินทางมาเจรจาถึงที่บ้าน ขอให้ทนส่งเสียให้เรียนต่อ แต่ถ้าเกิดหมดหนทางจริง ๆ ท่านจะเป็นคนส่งเสียเอง

ท้ายสุดท่านสมภารเป็นฝ่ายชนะ หลังจากที่ท่านลั่นวาจาไว้ว่า หากไม่ยอมให้เรียน ท่านจะนั่งอยู่ตรงนั้นไม่ยอมกลับวัด คุณพ่อของอาจารย์สตางค์ก็ยอมให้เรียน โดยจะยอมกัดฟันส่งเสียให้เรียนด้วยตัวเอง จะไม่ให้เป็นภาระใครทั้งสิ้น อาจารย์สตางค์จึงสอบเข้าโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เป็นรุ่นน้อง พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี 1 ปี (แต่อาจารย์สตางค์ อายุมากกว่า 1 ปี)

 

ยอดนักเคมี

สมัยที่ยังเรียนอยู่ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย อาจารย์สตางค์มีเพื่อนสนิทที่ไปไหนไปกันอยู่สองท่าน คือ พลเรือตรีเกตุ สันติเวชชกุล และ ศาสตราจารย์ นพ.ร่มไทร สุวรรณิก เรียกได้ว่าเจอใครคนหนึ่งก็ต้องเจออีกสองคนเสมอ จนเพื่อน ๆ ให้ฉายาว่า ทหารสามเกลอ

ศาสตราจารย์ นพ.ร่มไทร เล่าไว้ว่า อาจารย์สตางค์ชอบเรียนวิชาเคมีเป็นที่สุดและเก่งวิชานี้มาก โดยท่านเคยปรารภให้ฟังว่า ตั้งใจจะใช้วิชาวิทยาศาสตร์นี้ให้เป็นประโยชน์กับการแพทย์เมืองไทยให้มากที่สุด

ดร.แถบ เล่าไว้ว่า ท่านเฝ้าสังเกตและมองเห็นแววของอาจารย์สตางค์มาตั้งแต่สมัยเป็นนิสิตปีแรก ๆ เนื่องจากอาจารย์สตางค์เป็นนิสิตที่เรียนดีและโดดเด่นที่สุดในรุ่น โดยเฉพาะวิชาเคมี อาจารย์สตางค์สอบได้ที่หนึ่งของชั้นทุกปี กระทั่งขึ้นสู่ปีที่ 3 ซึ่งมีโอกาสใกล้ชิดกับ ดร.แถบ มากขึ้น ทำให้ท่านมีความสนใจอาจารย์สตางค์มากขึ้นไปกว่าเดิมหลังจากทราบว่าอาจารย์สตางค์ให้ความสนใจในวิชาอินทรีย์เคมี ซึ่งก็ตรงกับความสนใจของ ดร.แถบ เช่นกัน

นิสิตคณะวิทยาศาสตร์ในสมัยนั้น จะต้องใช้ตำรา The Systematic Identification of Organic Compounds ของ Sheiner และ Fuson ซึ่งอาจารย์สตางค์สามารถทำโจทย์ที่มีในตำราเล่มนี้ได้หมดทุกข้อ ตั้งแต่ข้อง่ายที่สุดไปจนถึงข้อยากที่สุด โดยบันทึกไว้ในสมุดเล่มโต ดร.แถบ เล่าถึงสมุดเล่มนั้นไว้ว่า

“…สมุดเล่มนั้นของสตางค์ ถ้านำไปตีพิมพ์ขายก็คงจะขายได้ดีในสมัยนั้น เพราะว่านั่นเป็น Answer to Test Questions ที่ดีสำหรับหนังสือเล่มนั้น…”

หลังจากสำเร็จการศึกษาปริญญา วท.บ. เกียรตินิยม ในสาขาวิชาเคมี อาจารย์สตางค์สมัครเข้ารับราชการเป็นอาจารย์แผนกเคมี ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ช่วงนั้นยังอยู่ในช่วงสงครามโลก ยังไม่มีตำแหน่งบรรจุ ดร.แถบ จึงได้แนะนำให้สมัครทำปริญญาโทไปก่อน รอจนกว่าจะมีตำแหน่งบรรจุ อาจารย์สตางค์จึงรับหน้าที่ช่วยสอน โดยได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 60 บาท จากเงินทุนของคณะวิทยาศาสตร์

เมื่อสำเร็จปริญญาโทเมื่อ พ.ศ. 2488 อาจารย์สตางค์ก็ได้รับการบรรจุเข้าเป็นอาจารย์แผนกเคมี รับเงินเดือน 140 บาท และรับหน้าที่สอนอยู่จนถึง พ.ศ. 2490 จึงเดินทางไปศึกษาต่อด้านอินทรีย์เคมี ที่มหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.บัวเรศ คำทอง และ ศาสตราจารย์ ดร.กัลย์ อิศรเสนา ณ อยุธยา เป็นผู้แนะนำฝากฝังให้กับ Prof. Robertson F.R.S. ซึ่งเป็นอาจารย์ของทั้งสองท่าน จนในที่สุดอาจารย์สตางค์ก็สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกเมื่อ พ.ศ. 2492

 

อาจารย์ “ป๋า”

อาจารย์สตางค์นั้นเกิดมาเพื่อเป็น “อาจารย์” อย่างแท้จริง ท่านมักจะเป็น “ผู้ให้” มากกว่าเป็น “ผู้รับ” เสมอ ยิ่งกับบรรดาลูกศิษย์ด้วยแล้ว ท่านจะให้ความรักความเอ็นดูเสมือนเป็นลูกหลานของท่าน ลูกศิษย์สามารถมาปรึกษากับท่านได้ทุกเมื่อไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตาม แม้กระทั่งเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ บางครั้งท่านถึงกับควักเงินตัวเองให้ลูกศิษย์เลยทีเดียว เมื่อรู้ว่าใครไม่มีเงินใช้ ซึ่งเรื่องนี้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ประเสริฐ โศภน หนึ่งในลูกศิษย์ของท่านยืนยันได้เป็นอย่างดี

“...ท่านมีความปรานีและเอื้อเฟื้อกับพวกเด็ก ๆ มาก บางทีเดินมาเจอพวกเราก็ถามว่า “มีตังค์ใช้มั้ย” แล้วควักให้พวกเราทีละ 100 ทีละ 1,000 ยุคนั้นมันไม่ใช่น้อยๆ เงินมันมีค่ามาก...”

ลักษณะประจำตัวของอาจารย์สตางค์อีกอย่างหนึ่งที่ลูกศิษย์จะจำได้เสมอ คือท่านเป็นคนดุ เนื่องจากท่านเป็นคนที่มีระเบียบ ท่านจึงย้ำสอนลูกศิษย์เสมอเรื่องความมีระเบียบวินัย ซึ่งเป็นสิ่งที่ท่านย้ำนอกเหนือจากการสอนให้เอาใจใส่ในเรื่องการเรียน เรื่องเขกหัวก็นับเป็นอีกหนึ่งกิตติศัพท์ที่ขึ้นชื่อลือชา ใครทำไม่ดี ไม่ตั้งใจเรียน ตอบคำถามไม่ได้ก็จะโดนมะเหงก อยู่เสมอ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ เปรมปรีดิ์ เล่าถึงเรื่องนี้ไว้ว่า

“...สไตล์การสอนของท่านเป็นแบบสอนไปถามไปให้นักศึกษาตอบ...ผู้ที่ถูกถามก็ตอบได้บ้าง ไม่ได้บ้าง เดาบ้าง เมื่อใครตอบคำถามไม่ได้ ท่านก็จะเดินมาหาแล้วค่อย ๆ เอามะเหงกเคาะลงเบาๆ ที่กลางกระหม่อม เรียกเสียงฮาได้ดีทีเดียว...”

ด้วยความรักและเอาใจใส่ลูกศิษย์เหมือนเป็นลูกหลาน ทำให้บรรดาลูกศิษย์มักแอบเรียกอาจารย์สตางค์ลับหลังว่า “อาจารย์ป๋า”

 

ยอดคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ เมื่อแรกเริ่มนักเคมี

หลังเดินทางกลับจากอังกฤษ ท่านเข้ารับราชการที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ต่อมาไม่นานก็ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดตั้ง คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ขึ้นในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ซึ่งตอนนั้นท่านทำงานหนักมาก แต่ก็ทำไปได้ด้วยดีและได้รับความสำเร็จอันงดงาม

ตลอดเวลาที่เริ่มงานที่โรงเรียนเตรียมแพทยศาสตร์เชียงใหม่ ท่านต้องฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการ จนในที่สุดความสำเร็จของนักศึกษาแพทย์เชียงใหม่รุ่นแรกก็เห็นผล คือเมื่อมีการสอบรวมกับคณะแพทยศาสตร์จากศิริราชและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปรากฏว่านักศึกษาของท่านทำคะแนนนำเป็นส่วนมาก เป็นผลจากการปูพื้นฐานวิชาต่าง ๆ เป็นอย่างดี ผลสำเร็จนี้ทำให้ท่านขยายงานเป็นคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้สำเร็จในไม่ช้า

อาจารย์สตางค์ เป็นคนที่พูดจาตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อม ไม่เกรงใจใครในเรื่องงานที่จะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือประเทศชาติ ความซื่อตรงของท่านเป็นที่พอใจของชาวต่างประเทศที่ได้คบค้า ไม่ว่าจะเป็นผู้แทนของ Ford Foundation หรือ Rockefeller Foundation จนถึงกับทุ่มเงินจำนวนมหาศาลช่วยเหลือให้กับคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์

“...มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์เขาเชื่อถืออาจารย์สตางค์มาก ปกติเขาจะไม่ลงทุนกับใครมากขนาดนี้ แต่เพราะเป็นอาจารย์สตางค์ เขาให้เพราะอาจารย์สตางค์คนเดียว...”

ศาสตราจารย์ ดร.กอร์ดอน บี. เบลี่ย์ อาจารย์ภาควิชาชีวเคมี จากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ซึ่งเคยร่วมงานกับอาจารย์สตางค์เล่าถึงเรื่องราวในอดีต

จากความทุ่มเทอย่างจริงจังของท่าน ในที่สุดการก่อตั้งคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี หลังจากที่คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์เจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ จนกลายเป็นสถาบันการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ที่แข็งแกร่งระดับประเทศ ท่านจึงริเริ่มโครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาคเพื่อขยายโอกาสและพัฒนาศักยภาพทางการศึกษาของประเทศ โดยท่านร่วมเป็นคณะกรรมการจัดตั้งมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาคหลายแห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

 

อาจารย์สตางค์ สร้างคน

อาจารย์สตางค์ เป็นคนมองการณ์ไกลในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการสร้างคนเพื่อจะกลับมาพัฒนาประเทศ การส่งเสริมให้นักเรียนหรืออาจารย์ไปเรียนต่อต่างประเทศเพื่อกลับมาเป็นอาจารย์สอนที่คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ศาสตราจารย์ ดร.กัลย์ อิศรเสนา ณ อยุธยา ผู้เคยสอนอาจารย์สตางค์ตั้งแต่เป็นนิสิตคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าถึงแนวคิดในการสร้างคนของอาจารย์สตางค์ไว้ว่า

“...การสนับสนุนอาจารย์ที่อยู่ใต้ปกครองของตนนั้นไม่อั้น ผู้ใดสามารถเรียนได้ ก็จะช่วยเหลือเต็มที่ ไม่เคยเกรงว่าจะมีใครมาชิงดีชิงเด่น ไม่ว่าในคณะฯ จะมีคนจบปริญญาเอกแล้วกี่คน ถ้าใครสามารถไปให้ถึงจุดนั้นได้ท่านก็จะช่วย ท่านมองว่าการมีปริญญาเอกมาก ๆ ในคณะฯ เป็นสิ่งดี เป็นหน้าเป็นตา เป็นศักดิ์ศรีของคณะฯ ใครติดขัดมีปัญหาอะไร ถ้าช่วยได้ก็บอกว่าช่วย แล้วช่วยจริง ๆ ถ้าไม่มีทางก็บอกตรง ๆ เพื่อจะได้ไม่ต้องมีความหวังลอย ๆ อาจารย์สตางค์ไม่ใช่คนพูดมาก เมื่อตัดสินใจแล้วจะผิดถูกก็ให้รู้ไป ถ้าผิดก็รับผิดแต่ผู้เดียว...”

เรื่องการดึงเด็กเก่งมาเรียนวิทยาศาสตร์ของอาจารย์สตางค์นั้นขึ้นชื่อมาก ท่านจะเฟ้นหาและชักชวนมาเรียนวิทยาศาสตร์ ศาสตราจารย์ นพ.วิจารณ์ พานิช ได้เล่าไว้ในหนังสือ 48 ปี คณะวิทยาศาสตร์ หาวิทยาลัยมหิดล ว่า

“...ผมเกือบจะได้เป็นนักศึกษารุ่นที่ 3 ของคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้ว ผมเลือกสอบเข้ามหาวิทยาลัยสองแห่งคือ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กับ คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และสอบผ่านข้อเขียนทั้งสองแห่ง แต่ผมเลือกจุฬาฯ เพื่อนมาเล่าให้ฟังว่าในวันสอบสัมภาษณ์ อาจารย์สตางค์เดินออกมาถามหาว่า “วิจารณ์มาหรือยัง” คือท่านมุ่งมั่นที่จะจับเด็กเรียนเก่งถึงขนาดนั้น...
สมัยนั้นคนที่เรียนเก่งส่วนใหญ่จะมาเรียนที่คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพราะท่านมีกุศโลบายมากมายในการดึงเด็กเรียนเก่งเข้ามาเรียน ท่านมุ่งมั่นที่จะสร้างคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ให้เป็นเลิศทางวิชาการอย่างมาก...”

 

เป็นที่รักของผู้ใต้บังคับบัญชา

อาจารย์สตางค์เป็นที่เลื่องลือถึงความมีระเบียบ จนลูกศิษย์หลายคนมองว่าท่านเป็นคนดุ ซึ่งแท้จริงเป็นเพราะท่านมีความใส่ใจในทุกสิ่งและเป็นห่วงเป็นใยลูกศิษย์ทุกคนรวมไปถึงผู้ใต้บังคับบัญชาทุกคน

ความเป็นคนละเอียดของท่านถูกเล่าผ่าน อาจารย์วิภาวรรณ มนุญปิจุ อดีตหัวหน้าห้องสมุดคณะวิทยาศาสตร์ (ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข ในปัจจุบัน) ว่าท่านกำชับหนักหนาว่าให้ทำห้องสมุดให้ดีและมีมาตรฐานเหมือนอย่างต่างประเทศ โดยเฉพาะความสะอาดเรียบร้อย ถึงขนาดเคยลงมือทำความสะอาดห้องน้ำให้ดูเป็นตัวอย่าง

“...ผู้ปฏิบัติงานระดับล่างท่านก็ให้การสนับสนุนและให้กำลังใจตลอด ท่านเคยลงมือทำความสะอาดห้องน้ำให้ดูเป็นตัวอย่าง เป็นที่ประทับใจมาก คนทำความสะอาดของห้องสมุดก็เลยต้องทำอย่างที่อาจารย์ทำให้ดูทุกครั้งไป จะมีที่ไหนบ้างที่คณบดีมาทำงานแบบนี้ให้ดูเป็นแบบอย่าง...”

คุณบุญช่วย มาลัยวรรณ อดีตพนักงานห้องทดลอง ภาควิชาเคมี ได้เล่าถึงความประทับใจต่ออาจารย์สตางค์ไว้เช่นกัน

“...ตอนมาทำงานใหม่ ๆ ยังได้ค่าจ้างรายวัน อาจารย์ก็มาพูดคุยให้กำลังใจ บอกว่าขยันทำงานนะ อีกหน่อยก็จะได้บรรจุ อาจารย์ไม่ถือตัวเลย สอนเราทุกอย่าง ท่านทำงานละเอียดและเรียบร้อยมาก อาจารย์รุ่นหลังก็มักจะถามว่าเป็นลูกศิษย์อาจารย์สตางค์เหรอ เราก็บอกอย่างภูมิใจเลยว่าใช่ค่ะ...”

 

วันแห่งการสูญเสีย

วันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2514 เหมือนดังสายฟ้าฟาดลงมากลางใจของชาวคณะวิทยาศาสตร์ทุกคน ข่าวการถึงแก่อนิจกรรมอย่างกระทันหันของท่านอาจารย์สตางค์ สร้างความตกใจให้กับทุกคน ในขณะนั้นท่านดำรงตำแหน่ง คณบดีคณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล และตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งทั้งสองสถาบันต่างกำลังดำเนินงานด้านการเรียนการสอนและการวิจัยไปอย่างรุดหน้า การจากไปอย่างกระทันหันของท่านจึงส่งผลกระทบอย่างมาก

“...ผมจำได้ว่า วันที่อาจารย์สตางค์เสีย ดร.ดินนิ่ง เดินมาบอก พวกหัวหน้าภาควิชากับพวกอาจารย์ฝรั่งร้องไห้กันใหญ่ เพราะว่าเขาเสียเพื่อนที่สนิทมาก...”

ศาสตราจารย์ ดร.กอร์ดอน บี. เบลี่ย์ จากภาควิชาชีวเคมี ของมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ย้อนอดีตถึงวันแห่งความอาดูร

ความตั้งใจสุดท้ายของอาจารย์สตางค์ คือความพยายามจัดตั้งคณะเกษตรศาสตร์ ที่หาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ท่านได้ติดต่อขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลประเทศญี่ปุ่นในด้านเงินทุนและด้านวิชาการ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ท่านได้เข้าพบนักวิชาการชั้นนำของประเทศญี่ปุ่นอีกหลายท่าน การเจรจาเป็นไปอย่างราบรื่น ท่านได้เสนอเรื่องผ่านกระทรวงการต่างประเทศของไทยไปยังรัฐบาลญี่ปุ่น พร้อมแผนผังบริเวณสถานที่จัดตั้งคณะเกษตรศาสตร์ แต่น่าเสียดายที่ท่านถึงแก่อนิจกรรมอย่างกระทันหันเสียก่อน

การสูญเสียท่านอาจารย์สตางค์ จึงนับเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ของวงการการศึกษาและวิทยาศาสตร์ของไทย แม้ท่านได้จากไปอย่างไม่มีวันกลับ แต่ท่านจะยังคงอยู่ในใจของทุกผู้ที่เกี่ยวข้อง ในฐานะของพ่อ ในฐานะของอาจารย์ และในฐานะของผู้วางรากฐานการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ที่สำคัญที่สุดท่านหนึ่งของประเทศไทยตราบจนทุกวันนี้

ศึกษาประวัติและผลงานของท่านโดยละเอียดได้ที่
เว็บไซต์พิพิธภัณฑ์สตางค์ มงคลสุข
“หนึ่งในร้อย” หนังสือที่ระลึกในวาระครบรอบ 100 ปี ชาตกาล ศ. ดร.สตางค์ มงคลสุข