head
 
Knowledge Management 2015
 
ประสบการณ์เมื่อสายสนับสนุนเขียนบทความทางวิชาการและนำเสนอผลงานในการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ
 
                                                  เสฏฐวุฒิ แก้ววิเศษ ตำแหน่งนักวิเทศสัมพันธ์
งานความร่วมมือระหว่างประเทศ
อีเมล์ sethavudh.kae@mahidol.ac.th
URL: http://www.sc.mahidol.ac.th/ic/
 
 

          เมื่อกล่าวถึงงานวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นบทความ งานวิจัย งานวิเคราะห์  สังเคราะห์ ฯลฯ หรืองานอะไรก็ตามแต่ที่ต้องอาศัยความรู้ความสามารถเฉพาะทาง หลายๆ ท่านคงจะแอบจินตนาการหรือนึกภาพออกไปในทิศทางเดียวกันว่า เป็นงานที่ยุ่งยาก ต้องค้นหาข้อมูลมากมาย  ต้องคิดวิเคราะห์ โดยเฉพาะงานที่เป็น ภาคภาษาอังกฤษ และที่สำคัญคือต้องอ่านเยอะเพื่อหาข้อมูลอ้างอิง และหลายคนก็คงจะคิดว่าต้องเป็นงานของนักวิชาการ อาจารย์ นักวิทยาศาสตร์ ในสายวิชาการเท่านั้น  ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน งานวิชาการเหล่านี้ในความรู้สึกของเรารวมถึงตัวผู้เขียนเอง จึงเปรียบเหมือนยาขมสำหรับพนักงาน สายสนับสนุนไปโดยปริยาย หากวันหนึ่งจะมีผู้บังคับบัญชาได้ลองเสนองานชิ้นยากๆ แบบนี้มาให้เราลองพัฒนาทักษะทางด้านนี้

          และเมื่อโอกาสมาถึงก็ไม่ใช่เรื่องแปลกหากเราสายสนับสนุนจะลุกขึ้นมาทำงานด้านวิชาการดูบ้าง ภายใต้การดูแลเอาใจใส่และการเป็นที่ปรึกษา ทางวิชาการอย่างดีจากผู้บังคับบัญชา  เมื่องานความร่วมมือระหว่างประเทศได้ตั้งเป้าสำหรับปีนี้ว่าจะผลิตบทความทางวิชาการ  เพื่อนำเสนอในงานการประชุม วิชาการระดับนานาชาติสักเรื่อง โดยใช้เนื้องานประจำที่เราทำอยู่ที่มีการวางแผนการทำงาน (Planning) การเก็บข้อมูล (Data collection) การวิเคราะห์ข้อมูล (Data analysis) โดยทีมงานไว้แล้วในแต่ละกิจกรรม แล้วนำมาร้อยเรียงเป็นเรื่องที่ตอบโจทย์ที่ตั้งไว้ ซึ่งเป็นผลลัพธ์ (Output)

          เริ่มแผนกิจกรรมโดยนำเชื่อมโยงกับทฤษฏีและหลักการทางวิชาการและการวิจัย ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับการทำ R2R โดยผู้เขียนได้รับมอบหมาย ให้เป็นผู้นิพนธ์หลัก (First author) โดยการสนับสนุนของผู้บังคับบัญชา หัวหน้างาน และเพื่อนร่วมงานทุกๆ คน (คณะทำงาน) ตามความถนัดของแต่ละคน แล้วกระบวนการผลิตงานวิชาการก็เริ่มขึ้นด้วยความมุ่งมั่นว่า เอาน่า! มันน่าจะไปได้สวยในเมื่อปัจจัยทุกอย่างพร้อมเช่นนี้

ก่อนการขียนบทความ
            1. การก่อรูปความคิด ผู้เขียนเริ่มจากการทำความเข้าใจกับเนื้องานที่จะนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการเขียนบทความว่ามีข้อมูล ข้อเท็จจริง สถิติ อะไรอยู่บ้าง ในขั้นนี้ต้องลงมืออ่านและทำความเข้าใจให้รู้จริง เข้าใจจริง ทำให้เห็นภาพว่าข้อมูลวัตถุดิบที่มีอยู่ในมือนั้นน่าจะผลิตบทความทางวิชาการ ออกมาแนวใด ประเภทใหน ในขั้นตอนนี้การได้รับคำชี้แนะและคำแนะนำจากผู้บังคับบัญชาอย่างใกล้ชิดมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะก่อรูปไอเดีย หรือแนวความคิดให้ชัดเจน โดยมีการปรึกษาหารือเป็นระยะกับคณะทำงานเพื่อจัดเตรียมข้อมูลที่จำเป็น
            2. การศึกษารูปแบบบทความวิชาการ  เมื่อแนวความคิดชัดเจนแล้วผู้เขียนก็เริ่มศึกษารูปแบบของบทความวิชาการว่าโดยทั่วๆ ไปแล้วมีลักษณะอย่างไร การเขียนมีเนื้อหาสาระประมาณไหน ซึ่งมาตรฐานของบทความทางวิชาการโดยทั่วไปก็จะคล้ายคลึงกัน ในชั้นนี้ผู้เขียนใช้เวลาว่างเพื่อค้นคว้า อ่านบทความต่างๆ เพื่อเก็บเกี่ยวสาระ รูปแบบ ไอเดียต่างๆ ทั้งบทความภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
            3.  การหาแหล่งนำเสนอผลงาน  ในลำดับถัดมาผู้เขียนก็เริ่มศึกษาหาข้อมูลแหล่งการนำเสนอบทความ ซึ่งโดยทั่วไปการนำเสนอ บทความทางวิชาการก็จะมีแหล่งให้ผู้นิพนธ์นำเสนออยู่หลายรูปแบบ เช่น  การตีพิมพ์ในนิตยสาร วารสาร จดหมายข่าว การนำเสนอในที่ประชุมวิชาการทั้ง แบบภาคบรรยายและภาคโปสเตอร์  เป็นต้น  ข้อมูลแหล่งการนำเสนอบทความนี้ก็สามารถหาได้ทั่วไปทางอินเตอร์เนต หรือทางเว็บไซต์ที่มีการประกาศ ของผู้จัดการประชุม ในกรณีนี้ผู้เขียนได้ค้นหาข้อมูลจากเว็บไซต์ที่รวบรวมรายละเอียดการจัดประชุมที่มีชื่อว่า http://www.conferencealerts.com/ ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมงานประชุมทางวิชาการทั่วโลกแยกตามทวีป ภูมิภาค ประเทศ และสาขาวิทยาการต่างๆ ในการเลือกงานประชุมใดประชุมหนึ่ง จะต้องคำนึงถึงเรื่องสำคัญๆ อาทิ เช่น สถานที่จัดการประชุม วันเวลาปิดรับลงทะเบียน วันเวลาปิดรับบทความเพื่อพิจารณา ค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียน ผู้จัดประชุมมี Proceeding หรือการตีพิมพ์บทความในวารสาร/นิตยสาร หลังเสร็จสิ้นการประชุม มีการบรรจุบทความลงในฐานข้อมูลต่างๆ ที่สามารถสืบค้นได้ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ รูปแบบหรือแบบฟอร์มการเขียนบทความของแต่ละการประชุมเป็นอย่างไร เป็นต้น  ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้จะช่วยให้เราตัดสินใจเลือกการประชุมใดประชุมหนึ่งภายใต้งบประมาณ เงื่อนไข และวัตถุประสงค์การนำเสนอบทความ ซึ่งในครั้งนี้ทางผู้บังคัญบัญชา ได้กำหนดให้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า (1) จะต้องเป็นการประชุมวิชาการนานาชาติ และต้องนำเสนอในรูปแบบบรรยายเท่านั้น  (โดยปกติการนำเสนอผลงาน มีทั้งแบบบรรยายและแบบโปสเตอร์) (2) ต้องมี Proceeding ที่ลงตีพิมพ์ในวารสารที่อยู่ฐานข้อมูลทางวิชาการนานาชาติที่สืบค้นได้ และมี Peer reviews

ระหว่างการเขียนบทความ

          เมื่อได้ข้อมูลที่พร้อมเรียบร้อยแล้วจากขั้นแรก ในขั้นนี้ผู้เขียนก็จะเริ่มต้นเขียนบทความรูปแบบหรือแบบฟอร์มที่ทางงานประชุมกำหนด เช่น บทความควรมีจำนวนหน้าไม่เกินกี่หน้า (กระดาษ A4) หากเกินกว่าที่กำหนด จะต้องจ่ายเงินค่าส่วนเกินหน้าละเท่าไหร่ หัวข้อเรื่องต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง ตัวอักษรใช้ฟอนท์อะไร ขนาดเท่าไหร่ ระยะกั้นหน้า กั้นหลัง เป็นอย่างไร การเขียนอ้างอิง (Reference) รูปแบบไหน การใช้ภาพหรือกราฟประกอบต้องจัดทำตามรูปแบบไหน   โดยทั่วไปแต่ละงานประชุมก็จะเตรียมแบบฟอร์ม (Template) ของการเขียนบทความไว้ให้ผู้ที่สนใจนำเสนอบทความดาวน์โหลดไปใช้ได้อยู่แล้ว ผู้เขียนก็เพียงดาวน์โหลดมาเขียนได้อย่างง่ายดาย

          สำหรับหัวข้อบทความที่ได้นำเสนอในครั้งนี้คือ บทความทางวิชาการเรื่อง “Inspired by the Nobel Laureates:  A Typical Event-based Inspirational Motivation in Science Education” ซึ่งเป็นการนำหลักการทางด้านการจัดการเรียนการสอน  และการจัดกิจกรรมเสริมการเรียนการสอนทางวิทยาศาสตร์แบบบูรณาการมาเป็นแนวคิดในการเขียนบทความ  การจัดกิจกรรมพิเศษทางวิชาการดังกล่าวที่คณะวิทยาศาสตร์จัดขึ้น  เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กและนักวิจัยรุ่นใหม่  ให้สนใจเข้ามาเรียนและทำงานด้านวิทยาศาสตร์ โดยใช้แรงบันดาลใจจากนักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบล (Nobel prize) ในสาขาต่างๆ ทางด้านการแพทย์และทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นกิจกรรมบรรยายทางวิชาการที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินการอยู่ในแผนงานประจำ  แต่ในบทความนี้ได้หยิบกรณีศึกษาที่มีการจัดบรรยายพิเศษควบคู่ไปกับการจัดกิจกรรมพิเศษในปี ค.ศ. 2012 และ ค.ศ. 2014 ซึ่งประกอบด้วย

          (1)  การบรรยายโดย ศาสตราจารย์ Douglas D. Osheroff นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ ปี ค.ศ.1996 ซึ่งนอกจากจะเป็นการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “How Science Changes our Lives”(ภาพประกอบ)ให้กับบุคคลทั่วไปแล้วยังมีการจัดกิจกรรมพิเศษเพิ่มเติมให้เกิดการร่วมแบ่งปันประสบการณ์ชีวิตเกี่ยวกับความรักในวิทยาศาสตร์ โดยจัดกิจกรรม Lunch Talk ในหัวข้อ “The Road to Stockholm” และตอบคำถามจากการสัมภาษณ์ของเด็กนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาและผู้ปกครอง ที่เข้าร่วมฟังการบรรยาย โดยผู้เข้าร่วมรับฟังการบรรยายได้รับฟังการตอบคำถามโดยตรงจากนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล (Closed- interview) ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเด็กที่เรียนทางด้านวิทยาศาสตร์โดยตรงก็เข้าใจได้ กับคำถามที่น่าสนใจ เช่น ชอบวิชาฟิสิกส์ แต่สอบตกควรทำอย่างไร ทำอย่างไรให้เด็กไทยเป็นคนช่างสงสัย หลังจากได้รับรางวัลโนเบล ชีวิตเป็นอย่างไร ฯลฯ
          (2)   การบรรยายโดย ศาสตราจารย์ Ada Yonath นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล สาขาเคมี ปี ค.ศ. 2009 ที่มาบรรยายพิเศษเรื่อง “The Amazing Ribosome and Its Tiny Enemies” ณ คณะวิทยาศาตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมกับร่วมจัดกิจกรรมพิเศษในโอกาสฉลองครบรอบ 100 ปี ด้าน Crystallography ในระดับนานาชาติ ซึ่งมีการจัดนิทรรศการเพื่อการเรียนรู้ของเด็ก เยาวชน และนักวิจัยรุ่นใหม่ ให้ได้ประสบการณ์โดยตรงจากนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นระดับโลกที่ได้รับรางวัลโนเบล

          การจัดงานการบรรยายและจัดกิจกรรมพิเศษทั้งสองงานดังกล่าวเกี่ยวข้องโดยตรงกับภาระงานด้านวิเทศสัมพันธ์ ซึ่งคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยงานความร่วมมือระหว่างประเทศ ได้รับหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการจัดกิจกรรมดังกล่าว โดยประสานความร่วมมือกับองค์กรเครือข่ายทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ 

          บทความนี้ต้องการนำสนอในงานประชุมวิชาการนานาชาติ 2015 International Conference on Education ที่จะจัดขึ้นที่เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ในระหว่างวันที่ 2-4 มิถุนายน 2558 โดยเป็นงานประชุมที่มีข้อดีคือ (1) อยู่ไม่ไกลจากประเทศไทยมากนัก สามารถเดินทางได้สะดวกโดยเครื่องบินที่บินตรงจากกรุงเทพฯ (2) เป็นการประชุมนานาชาติ (3) มีการตีพิมพ์ proceeding หลังเสร็จสิ้นการประชุม ในวารสาร Advance Science Letter (4) มีการลงบทความที่นำเสนอในฐานข้อมูลระดับนานาชาติที่สืบค้นได้ (SCOPUS) ซึ่งนับว่าเป็นการประชุมที่ได้มาตรฐานและมีองค์ประกอบครบถ้วนตามเงื่อนไขคณะทำงานกำหนดไว้ตั้งแต่แรก

                        

          ในขั้นตอนของเขียนบทความ นับว่าเป็นส่วนสำคัญ และยุ่งยากที่สุดสำหรับสายสนับสนุนอย่างผู้เขียน เนื่องจากต้องใช้พลังทางความคิด การเขียน ข้อเท็จจริง และความรู้ต่างๆ มากมาย นำมาหล่อหลอมและตกผลึกออกมาเป็นสาระ รวมทั้งการเลือกใช้คำในภาษาอังกฤษให้มีลักษณะทางวิชาการ โดยมีที่ปรึกษาทางวิชาการหรือผู้บังคับบัญชาคอยให้คำแนะนำและดูแลอย่างใกล้ชิดในขั้นตอนสำคัญนี้  ในขั้นตอนนี้โดยสรุปก็จะประกอบด้วย

  • การวางโครงเรื่องตามแนวคิดการเขียนบทความ โดยการวางกรอบการเขียนครอบคลุมภาพรวมทั้งบทความว่าจะประกอบด้วยส่วนต่างๆ อย่างไรบ้าง เป็นการวางหัวข้อเพื่อให้เห็นโครงสร้างสำคัญของบทความตามลำดับ
  • การเติมเต็มเนื้อหาในแต่ละโครงเรื่องที่วางไว้ ในขั้นตอนนี้ไม่จำเป็นต้องเขียนเรียงตามลำดับตั้งแต่โครงเรื่องที่ 1 ถึงเรื่องสุดท้ายก่อน หากมีข้อมูลส่วนไหนที่สมบูรณ์แล้วและตกผลึกสาระสำคัญได้ก่อน ก็สามารถนำมาเติมลงในโครงเรื่องได้ก่อนตามความสะดวก รวมไปถึงการใส่ภาพทางสถิติหรือรูปกราฟประกอบ
  • การทบทวน ปรับปรุงแก้ไข และเกลาเนื้อหาให้เป็นเอกภาพเมื่อได้เติมรายละเอียดในแต่ละโครงเรื่องเรียบร้อยแล้ว เป็นขั้นตอนสุดท้าย

การทบทวนแก้ไขและขัดเกลาภาษาในบทความ
          ในขั้นตอนนี้นับว่าเป็นขั้นตอนสำคัญอีกขั้นหนึ่ง เมื่อผู้เขียนได้บทความที่ผ่านกระบวนการขั้นตอนต่างๆ ดังกล่าวที่กล่าวมาแล้ว ในขั้นนี้ก็จะเป็นการอ่านทบทวนแก้ไขและขัดเกลาภาษาในบทความในภาพรวมเป็นครั้งสุดท้าย โดยคำนึงถึงความเป็นเอกภาพเนื้อหาที่เขียนและการเรียงลำดับความคิด (Scope and sequence) ความเป็นวิชาการ การใช้คำที่ถูกต้องเหมาะสม ความสามารถในการอธิบายและสื่อสาร และที่สำคัญเนื้อหาต้องตรงกับหัวข้อหลัก (Theme) ของการประชุมที่จะส่งบทความเข้ารับการพิจารณา (การส่งบทความที่ไม่ตรงกับหัวข้อหลักการจัดประชุมอาจเป็นสาเหตุให้ไม่ได้รับการพิจารณา) ในขั้นตอนนี้ผู้เขียนจะต้องทำความเข้าใจกับบทความอย่างถ่องแท้ (Insight) ในฐานะที่เป็นผู้นิพนธ์หลัก หากมีข้อสงสัยประการใดที่ยังไม่ชัดเจนจะต้องปรึกษาหารือกับที่ปรึกษาทางวิชาการอย่างตรงไปตรงมา แก้ไขและขัดเกลาบทความให้สมบูรณ์ที่สุดภายใต้ข้อมูลที่มีอยู่ แล้วจึงส่งบทความให้ที่ปรึกษาทางวิชาการตรวจสอบเป็นครั้งสุดท้ายก่อนส่งให้ผู้จัดการประชุมพิจารณา

การส่งบทความเพื่อรับการพิจารณา

          เมื่อได้บทความที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว ต่อไปก็จะต้องส่งบทความดังกล่าวไปยังงานประชุมวิชาการนานาชาติที่เราได้เลือกไว้แล้ว โดยการส่งบทความเพื่อรับการพิจารณาอาจจะมีหลายวิธี แต่ที่นิยมใช้กัน อาทิ เช่น การส่งทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (Email)  การอัพโหลดไฟล์ (MS Word/PDF) ออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ที่พัฒนาขึ้นโดยเฉพาะการประชุมนั้นๆ การส่งทางไปรษณีย์ การส่งทางโทรสาร (Facsimile) เป็นต้น ในที่นี้ผู้เขียนใช้วิธีการอัพโหลดออนไลน์ทางเว็บไซต์ที่ผู้จัดประชุมออกแบบขึ้นมาเป็นกรณีเฉพาะสำหรับงานประชุมดังกล่าวโดยใช้ซอฟต์แวร์ EDAS

                       

                      

          เมื่อได้ส่งบทความไปยังกองบรรณาธิการของการจัดประชุมเรียบร้อยแล้ว ในช่วงนี้ผู้เขียนก็ต้องรอการพิจารณาบทความและตอบรับ ซึ่งปกติการจัดประชุมก็จะมีผู้เชี่ยวชาญพิจารณาบทความ (Peer reviews) โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านได้อ่านและให้ลงมติว่าบทความของเรานั้นมีคุณภาพเพียงใด เหมาะสมกับหัวข้อหลัก (Theme) ของการจัดประชุมหรือไม่ ในขั้นตอนนี้ก็ต้องรอด้วยใจเย็นๆ หากเลยระยะเวลาที่กำหนดแล้วยังไม่มีการตอบรับ ผู้นิพนธ์อาจจะเขียนอีเมล์ไปสอบถามกองบรรณาธิการได้ตามอีเมล์ที่ระบุไว้ในการติดต่อกับกองบรรณาธิการ (โดยปกติจะมีชื่อผู้ประสานงานและอีเมล์ให้ติดต่อได้)

การตอบรับบทความของผู้จัดประชุม

          การตอบรับบทความเข้าร่วมการนำเสนอในงานประชุมวิชาการนานาชาติจากกองบรรณาธิการการจัดประชุม  โดยปกติจะตอบรับใน 4 ลักษณะ ได้แก่ (1) ตอบรับโดยไม่มีการแก้ไขใดๆ (2) ตอบรับโดยมีเงื่อนไขให้แก้ไขบทความตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญเพียงเล็กน้อย (3) ตอบรับโดยมีเงื่อนไขให้แก้ไขบทความตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญในเกือบทุกสวนของบทความ และ (4) ไม่รับบทความเพื่อนำเสนอในงานประชุม  โดยกองบรรณาธิการการจัดประชุมจะส่งหนังสือตอบรับบทความเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นภาษาอังกฤษ จ่าหน้าถึงผู้ประพันธ์หลัก (First author) ระบุชื่อบทความ และให้รหัสบทความ ระบุชื่อการประชุม วันที่ สถานที่ เพื่อให้ผู้เขียนนำไปใช้อ้างอิงและใช้ประกอบการทำเรื่องขออนุมัติต่างๆ ตามระเบียบต้นสังกัด พร้อมกับส่งรายละเอียดข้อชี้แนะต่างๆ ที่จำเป็นต้องแก้ไขบทความ (ระบบ EDAS จะระบุรายละเอียดการแก้ไขไว้ในระบบ ผู้เขียนต้องเข้าไปตรวจสอบเป็นระยะ) ในขั้นตอนนี้ให้ผู้เขียนแก้ไขตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ (พร้อมรับคำแนะนำจากที่ปรึกษาทางวิชาการ) และส่งต้นฉบับที่แก้ไขเสร็จเรียบร้อยแล้วเรียกว่า “บทความฉบับสมบูรณ์” (Full paper)  กลับไปยังกองบรรณาธิการตามวันและเวลาที่กำหนด ในขั้นตอนนี้อย่าลืมระบุชื่อผู้นำเสนอบทความ (Presenter) และผู้ที่เป็น Corresponding author ลงไปในบทความฉบับสมบูรณ์ด้วย ซึ่งปกติระบบการลงทะเบียออนไลน์จะมีช่องให้กรอกข้อมูลเหล่านี้อยู่แล้ว เพื่อจะได้นำไปตีพิมพ์ในวารสารต่างๆ หรือจัดทำ Proceeding ที่งานประชุมได้กำหนดไว้ต่อไป  โดยปกติผลงานที่ผ่านการนำเสนอในการประชุมวิชาการระดับนานาชาติงานใหญ่ๆ จะมี Proceeding และได้นำไปตีพิมพ์ในวารสาร/นิตยสาร/สิ่งพิมพ์ทางวิชาการ เป็นส่วนใหญ่ อาจจะเป็นการตีพิมพ์ออนไลน์หรือแบบรูปเล่มหรือตีพิมพ์ทั้งสองแบบ  ซึ่งผลงานที่ได้รับการตอบรับนี้ถูกโอนกรรมสิทธิ์ไปเป็นของสำนักพิมพ์หรือวารสาร/นิตยสารต่างๆ ก่อนการตีพิมพ์  ในขั้นนี้ผู้จัดการประชุมอาจจะให้ผู้นำเสนอบทความกรอกใบมอบอำนาจกรรมสิทธิ์ผลงาน หรือเรียกว่า Copyright Transfer Agreement ส่งให้ผู้จัดการประชุมให้เรียบร้อยก่อนการประชุม

          ในกรณีนี้บทความผู้เขียนได้รับการตอบรับให้นำเสนอโดยวาจา (Oral presentation) แบบมีการแก้ไขเล็กน้อย และสุดท้ายผู้เขียนก็ต้องเตรียมจัดทำ PowerPoint Presentation (PDF) ร่วมกับที่ปรึกษาทางวิชาการ จนเสร็จสมบูรณ์ (ความยาว 15-20 นาทีหรือตามที่ผู้จัดประชุมระบุไว้) โดยในบางงานประชุมอาจกำหนดให้ผู้เขียนอัพโหลดไฟล์ PPT ออนไลน์ล่วงหน้าทางเว็บไซต์ก็ได้

                      

          หากมีเวลาเตรียมตัวมากพอ ผู้เขียนอาจจะฝึกซ้อมการนำเสนอโดยวาจากับที่ปรึกษาทางวิชาการหลายครั้งเพื่อให้เกิดความแม่นยำและไม่ประหม่า  และเพื่อให้แน่ใจว่าการนำเสนอจะเป็นไปได้ด้วยดีตามระยะเวลาที่กำหนด พร้อมกับซักซ้อมการตอบคำถามบางอย่างที่คาดว่าผู้ฟังอาจจะซักถามได้  การซักซ้อมจนเกิดความแม่นยำและคุ้นเคยกับเรื่องทและ PPT ที่าจะนำเสนอ จะทำให้การนำเสนอไม่ผิดพลาดและเป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนดได้   โดยทั่วไปแล้วกองบรรณาธิการการจัดประชุมจะแจ้งกำหนดการนำเสนอซึ่งเรียกว่า Meeting Agenda ให้ผู้เขียนทราบล่วงหน้าโดยอาจจะส่งทางอีเมล์ หรือประกาศในเว็บไซต์ หน้าที่ของผู้เขียนต้องเข้าไปดูรายะละเอียดให้เรียบร้อยว่าบทความของเราถูกจัดให้นำเสนอในวันที่เท่าไหร่ ห้องอะไร เวลาไหน และมีใครเป็นประธานในการนำเสนอ เป็นต้น

การเข้าร่วมประชุมและนำเสนอบทความ
          เมื่อบทความได้รับการตอบรับเรียบร้อยแล้ว โดยปกติผู้เขียนก็จะทำการลงทะเบียนเข้าร่วมประชุมและชำระค่าลงทะเบียนตามอัตราที่ผู้จัดประชุมกำหนดไว้  (การไม่ลงทะเบียนหรือลงทะเบียนเลยระยะเวลากำหนดอาจเป็นผลผู้จัดประชุมปฏิเสธการการเสนอบทความได้)  ในขั้นตอนนี้ผู้เขียนอาจจะต้องจองที่พักในโรงแรมต่างๆ หรืออาจจะจองที่พักในโรงแรมที่จัดการประชุมเลยก็ได้  จองตั๋วเครื่องบิน ศึกษาหาข้อมูลสำคัญๆ ที่จำเป็นต้องทราบในการเดินทางไปประเทศนั้นๆ เช่น สภาพบ้านเมืองเป็นอย่างไร อุปนิสัยใจคอผู้คน วัฒนธรรมและขนมธรรมเนียมประเพณีต่างๆ  สกุลเงินที่ใช้  อาหารการกิน แหล่งท่องเที่ยว การเดินทางจากสนามบิน การใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ เป็นต้น
              

การเข้าร่วมประชุมในวันแรกโดยปกติจะต้องทำการลงทะเบียนหน้างาน เพื่อรับกระเป๋าและเอกสารต่างๆ พร้อมป้ายชื่อประจำตัว เพื่อแสดงตัวตนว่าเป็นผู้เข้าร่วมประชุมที่ได้ลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่ผู้เขียนต้องตรวจสอบให้ละเอียดอีกครั้งจากเอกสารที่ได้รับตอนลงทะเบียน (ตารางการนำเสนออาจมีการแก้ไข) คือตารางการนำเสนอบทความ (Schedule หรือ Scientific Program) ว่าแบ่งออกเป็นกี่ห้อง และแต่ละห้องนำเสนอเรื่องอะไรบ้าง ใครเป็นผู้นำเสนอ และบทความของผู้เขียนเองได้ถูกจัดให้นำเสนอในวันไหน ห้องอะไร เวลาเท่าไหร่ ใช้ระยะเวลาในการนำเสนอเท่าไหร่ นำเสนอก่อนผู้เขียนคนอื่นที่ชื่ออะไร เป็นต้น ข้อมูลเหล่านี้สำคัญมากเพื่อให้ผู้นำเสนอไม่พลาดในระหว่างที่อยู่ในงานประชุมซึ่งปกติจะมีผู้เข้าประชุมเยอะเป็นหลายร้อยคน และมีห้องนำเสนอหลายห้อง ซึ่งนำเสนอคู่ขนานกันไป (Parallel session) ในฐานะผู้เข้าประชุมคนหนึ่ง ผู้เขียนอาจจะเลือกเข้าฟังการนำเสนอของผู้เขียนท่านอื่น ในหัวข้อต่างๆ ตามความสนใจของตัวเอง  แต่การนำเสนอผลงานของตัวเองต้องกลับไปนำเสนอตามห้องและเวลาที่กำหนดไว้เสมอ

                      

          

นอกจากการนำเสนอที่เป็นลักษณะคู่ขนานกันไปในแต่ละห้องประชุมแล้ว ยังมีการนำเสนอผลงานหรือปาฐกถาบรรยาย (Keynote Lecture) โดยองค์ปาฐกหรือผู้บรรยายที่เรียกภาษาอังกฤษว่า Keynote Speaker ซึ่งได้รับเชิญมาบรรยายในงานประชุม อันเป็นธรรมเนียมของการจัดการประชุมวิชาการนานาชาติ ในการบรรยายของ Keynote Speaker นั้นโดยส่วนมากจะจัดในห้องใหญ่ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนสามารถเข้ามาร่วมกันฟังได้ ภาษาอังกฤษเรียว่า Plenary session หากหัวข้อหลักของการจัดประชุมมีเพียงหัวข้อเดียว หรืออาจจะจัดในห้องย่อยๆ ในแต่ละห้องหากหัวข้อหลักของการจัดประชุมมีหลายหัวข้อ

          ในกรณีการจัดประชุมที่ผู้เขียนเข้ารวมประชุมในครั้งนี้ คือ 2015 International Conference on Education (ICOED) นั้น ได้จัดร่วมกับการประชุมอีก 2 การประชุม ได้แก่ 2015 Advanced Research in Material Sciences, Manufacturing, Mechanical and Mechatronics Engineering Technology (AR4MET) และการประชุม Renewable Energy and Green Technology International Conference (REEGETECH) ซึ่งจัดรวมกันในสถานที่เดียว การบรรยายของ Keynote Speaker จึงแบ่งย่อยออกเป็น 4 ห้อง ตามหัวข้อหลักของงานประชุม ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 หัวข้อหลัก ได้แก่

  1. ทางด้านการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ชุมชนเป็นฐานและการอนุรักษ์วัฒนธรรมดั้งเดิม (Learning and Teaching in Community Spaces Category – Challenging and Preserving Traditional Cultures
  2. ทางด้านการจัดการเรียนการสอนและการโครงสร้างการศึกษา (Learning, Teaching and Educational Structures)
  3. ทางด้านการผลิตเชิงอุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมวัสดุ (Manufacturing and Materials Sciences)
  4. ทางด้านวิศวกรรมกลไก (Mechanical and Mechatronics Engineering)

          สำหรับการประชุมที่ผู้เขียนเข้าร่วมคือ 2015 International Conference on Education (ICOED) ผู้เขียนได้เข้าร่วมฟังการบรรยาย Keynote Speaker ในหัวข้อ Fusion Lab: Innovative Approach to Empower Students with Special Educational Needs ซึ่งบรรยายโดย Prof. Dr. Samsilah Roslan ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็น Director ของ Putra Science Park (Innovation & Commercialization Center), University Putra Malaysia ประเทศมาเลเซีย การบรรยายดังกล่าวเป็นการนำเสนอผลการวิจัยด้านนวัตกรรมการเรียนการสอนใหม่ที่ใช้ดนตรีเข้ามาพัฒนาความสามารถและทักษะของเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้หรือเด็กพิเศษ (Learning disability) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ผู้เขียนยังได้เข้าร่วมรับฟังการนำเสนอผลงานในห้องที่เกี่ยวกับ การจัดการเรียนการสอนโดยใช้ชุมชนเป็นฐานและการอนุรักษ์วัฒนธรรมดั้งเดิม (Learning and Teaching in Community Spaces Category – Challenging and Preserving Traditional Cultures และห้องที่เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนและการโครงสร้างการศึกษา (Learning, Teaching and Educational Structures) ในระหว่างวันที่ 2-3 มิถุนายน 2558 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมทยอยนำเสนอผลงานตามระยะเวลาและหลากหลายหัวข้อ อาทิ การจัดการเรียนการสอนในชุมชนเพื่ออนุรักษ์สถาปัตยกรรมเก่าแก่โบราณในประเทศมาเลเซีย  กรณีการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นฐานในการศึกษา (Problem-based learning)  การพัฒนาทางด้านการศึกษาเฉพาะบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับการมีวินัยในตนเองในประเทศอินโดนีเซีย  การพัฒนาการเรียนการสอนคณิตศาสตร์และการสร้างแบบจำลองในระดับชันประถมศึกษาในประเทศอินโดนีเซีย  กระบวนการการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ในการศึกษานอกระบบที่เป็นของเอกชนในประเทศไทย  การบริหารจัดการห้องเรียนโดยการใช้ทักษะทางสังคมในโรงเรียนระดับชั้นประถมศึกษาในเขตกรุงเทพมหานคร เป็นต้น
         
          สำหรับการบรรยายของผู้เขียนเรื่อง  Inspired by the Nobel Laureates: A Typical Event-based Inspirational Motivation in Science Education ถูกจัดให้บรรยายในวันที่สองของการประชุม คือวันที่ 3 มิถุนายน 2558 ระหว่างเวลา 11.30-11.45 น. ซึ่งเป็นห้องเดียวกันกับที่ผู้เขียนได้เลือกเข้ารับฟังการเสนอผลงานของผู้เข้าร่วมประชุมท่านอื่น การบรรยายโดยวาจาเป็นการบรรยายแบบกระชับ ได้ใจความ และเป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนด ทั้งนี้ผู้เขียนได้เตรียม PPT ไปเก็บไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของการประชุมในช่วงพักเที่ยง และได้ลองเปิด PPT จากเครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าว เพื่อตรวจสอบความเรียบร้อยก่อน บางงานประชุมจะจัดห้องพิเศษไว้เฉพาะสำหรับทดลองและตรวจสอบความเรียบร้อยของ PPT เรียกว่า Audio Visual Room (AV Room) ในระหว่างการนำเสนอผู้เขียนใช้พูดปากเปล่าเนื่องจากเป็นห้องขนาดเล็กไม่ใหญ่มากและใช้ Pointer ชี้อธิบายประเด็นสำคัญต่างๆ ตามที่ได้ซักซ้อมเตรียมตัวมาเป็นอย่างดี  เมื่อนำเสนอจบแล้ว ผู้เข้าร่วมประชุมบางท่านอาจจะมีข้อสงสัยหรือซักถามผู้นำเสนอเพิ่มเติมในระหว่างที่ผู้นำเสนออยู่บนเวทีก็ได้ ในขั้นนี้ผู้เขียนก็ได้ตอบคำถามไปตามความเหมาะสม หรือบางท่านอาจจะเข้ามาติดต่อสอบถามหรือขออนุญาตใช้ PPT ภายหลังจากการนำเสนอเสร็จแล้วก็ได้ ในขั้นนี้ที่ปรึกษาทางวิชาการของผู้เขียนแนะนำให้เขียนรายชื่อผู้ที่ต้องการ PPT พร้อมสถานที่ทำงาน อีเมล์ เพื่อจะจัดส่งให้ภายหลัง เมื่อมีการเตรียม PPT ในเวอร์ชั่นที่เหมาะสมสามารถแจกให้ผู้เข้าประชุมได้  โดยส่วนมากในทางปฏิบัติจะแปลงไฟล์ PPT เป็น PDF ไฟล์เพื่อป้องกันการเปลี่ยนแปลงเนื้อหา  สำหรับกรณีการนำเสนอผลงานของผู้เขียน ได้มีผู้เข้าร่วมประชุมสนใจซักถามข้อมูลเพิ่มเติม อาทิ การจัดการเรียนการสอนทางด้านวิทยาศาสตร์ในรูปแบบบูรณาการกิจกรรมนั้น ตัวอย่างกิจกรรมที่จัดเสริมเพิ่มเติมให้นักเรียน มีอะไรบ้าง รายละเอียดแต่ละกิจกรรมเป็นอย่างไร  หรือคำถามที่ว่าการประเมินแรงบันดาลใจของผู้เข้าร่วมกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์นั้นดำเนินการโดยวิธีไหน และมีรูปแบบเป็นอย่างไร เป็นต้น

          ในระหว่างการนำเสนอผู้จัดการประชุมอาจจะมีกำหนดให้พัก (Break) เพื่อรับประทานอาหารว่าง ชา กาแฟ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้ผ่อนคลายอริยาบท ส่วนการรับประทานอาหารเที่ยงก็เป็นไปตามห้องอาหารหรือสถานที่ที่โรงแรมได้กำหนดไว้ ซึ่งจะมีการระบุให้ผู้เข้าร่วมประชุมทราบในเอกสารที่ได้รับตอนลงทะเบียนหน้างานหรือประชาสัมพันธ์ให้ผู้เข้าร่วมประชุมทราบโดยช่องทางต่างๆ ในระหว่างการประชุมต่อไป

                                        

            เมื่อเสร็จสิ้นการนำเสนอผลงานของผู้เข้าร่วมประชุมแต่ละคน ผู้ที่เป็นประธานในแต่ละช่วงนั้นก็จะทำพิธีมอบประกาศนียบัตรให้ผู้นำเสนอผลงานและถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐานอ้างอิงต่อไป หรือบางงานประชุมอาจจะเตรียมใบประกาศนียบัตรไว้ให้ที่โต๊ะลงทะเบียนแล้วให้ผู้นำเสนอผลงานไปติดต่อขอรับได้ สำหรับผู้เข้าร่วมประชุมทั่วไปที่ไม่ได้เป็นผู้นำเสนอผลงาน ผู้จัดการประชุมก็จะมีใบประกาศนียบัตรที่แสดงการเข้าร่วมประชุมวิชาการมอบให้เป็นหลักฐานอ้างอิงการได้เข้าร่วมประชุมด้วยเช่นกัน

          ภายหลังการนำเสนอผลงานเสร็จสิ้นในวันสุดท้าย โดยส่วนมากผู้จัดการประชุมมักจะเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้ทำความรู้จักสนิทสนมและแลกเปลี่ยนข้อมูลที่อาจจะเป็นประโยชน์ในการทำงานของแต่ละคน/สถาบัน ซึ่งในการประชุมครั้งนี้เรียกว่า Networking session เป็นการเข้าร่วมของผู้ประชุมโดยสมัครใจหรืออาจจะนัดกันออกไปรับประทานอาหารนอกสถานที่และพูดคุยกันในเชิงวิชาการ สร้างความสัมพันธ์และร่วมมือในระดับนานาชาติต่อไป ตามความสนใจและความสะดวกของผู้เข้าร่วมประชุม

หลังการเข้าร่วมประชุม
          เมื่อการเข้าร่วมการประชุมและนำเสนอบทความเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้เขียนอาจจะต้องคอยติดตามกระบวนการตีพิมพ์ผลงานทั้งที่เป็น Proceeding ตีพิมพ์ออนไลน์และรูปเล่มในวารสารที่ทางผู้จัดประชุมได้กำหนดไว้ เพื่อเป็นข้อมูลในการอ้างอิงต่อไป โดยทั่วไปการตีพิมพ์ในวารสารทางวิชการ ก็จะใช้ระยะเวลาประมาณ 3-7 เดือน อาจจะได้รับการติดต่อจากวารสารดังกล่าวเพื่อปรับแก้ไขบทความ รูปแบบ และอื่นๆ ตามข้อกำหนดของวารสารต่อไป ในกรณีนี้บทความของผู้เขียนจะได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Advance Science Letter ที่ตีพิมพ์โดย American Scientific Publishers (อยู่ในฐานข้อมูล SCOPUS, Q3) ซึ่งใช้ระยะเวลา 3-7 เดือนในการเตรียมการตีพิมพ์หลังจากกการจัดประชุมแล้วเสร็จ

                                        

ที่ปรึกษาทางวิชาการ
ผศ.ดร. กัณยารัตน์ สุไพบูลย์วัฒน         ที่ปรึกษาคณบดีฝ่ายวิชาการและวิเทศสัมพันธ์             

คณะทำงาน
นางสาวน้องนุช ประสมคำ                 นักวิเทศสัมพันธ์ (หัวหน้างาน)  
นางสาววรรณภา สมวงศ์                   เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป       
นางสาวสุทธิลักษณ์ น่วมทนง           นักวิเคราะห์นโยบายและแผน   
นายเสฏฐวุฒิ แก้ววิเศษ                     นักวิเทศสัมพันธ์

   
   
   
   
Home | Webmail | Student Live@EDU | Directories | Search | Sitemap | Intranet | Contact Us | VPN FB in MU Twitter in MU


© 2010 Faculty of Science, Mahidol University

272 Rama VI Road, Ratchathewi District, Bangkok 10400, THAILAND
Tel: +66 2201 5033 Fax: +66 2201 5072
Webmaster : scddean4@mahidol.ac.th