แผ่นไม้แดง ขนาดกว้าง ๙ เซนติเมตร ยาว ๒๐ เซนติเมตร และหนา ๒ เซนติเมตร เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างพื้นที่รื้อถอนจากเวทีของห้องบรรยาย L-01 ไม้แดงเหล่านี้ติดตั้งมาพร้อมกับการก่อสร้างอาคารบรรยายรวม “ตึกกลม” ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๘ พื้นไม้หนา แกร่ง ทนทาน ไม่มีรอยผุกร่อน รองรับการใช้งานในกิจกรรมการเรียนการสอน บรรยาย ปาฐกถา เสวนา ประชุมวิชาการ รวมไปถึงการแสดงละครเวที การขับร้องเพลง และอื่น ๆ อีกมากมายได้อย่างดีเยี่ยมตลอดเวลาที่ผ่านมา
“ตึกกลม” เป็นอาคารรูปวงกลมเมื่อมองจากด้านบน และคล้ายจานบินเมื่อมองจากด้านข้าง ก่อสร้างโดยใช้งบประมาณจากรัฐบาลไทย และจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ แบ่งกันออกฝ่ายละครึ่ง ใช้เงินค่าก่อสร้างเป็นเงินประมาณ ๔ ล้านบาท โดยการริเริ่มของศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข คณบดีท่านแรก และออกแบบโดย อาจารย์อมร ศรีวงศ์ ภายในมีห้องประชุมขนาดใหญ่ไม่มีเสากลาง จำนวน ๕ ห้อง รองรับนักศึกษาได้มากถึง ๑,๕๐๐ คน ฝ้าเพดานพับขึ้นลงเป็นรัศมีคล้ายพัดจีบ ทำให้เมื่อแรกก่อสร้าง เสียงบรรยายหน้าห้องสามารถกระจายถึงหลังห้องได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องขยายเสียง ด้วยความโดดเด่นทางสถาปัตยกรรม ทำให้ “ตึกกลม” ได้รับ “รางวัลอาคารอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น” จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๓
เพื่อคงคุณค่าอาคารอนุรักษ์ และปรับปรุงห้องภายในตึกกลมให้สามารถนำมาใช้งานได้หลากหลายยิ่งขึ้น ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงของบประมาณแผ่นดินในการบูรณะอาคารและห้องบรรยาย ติดตั้งลิฟต์บันได จัดทำทางลาดและติดตั้งประตูบานเลื่อนสำหรับรถเข็น เปลี่ยนระบบไฟส่องสว่าง เปลี่ยนหน้าต่าง ติดตั้งม่านบังแสง ตกแต่งผนังด้านหน้าเวที ปรับปรุงครุภัณฑ์โสตทัศนศึกษา และที่สำคัญคือการขยายเวทีห้อง L-01 ให้กว้างขึ้น อันเป็นที่มาของการรื้อพื้นไม้เดิม
แผ่นไม้แดงที่ท่านถืออยู่ในมือเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นไม้จำนวน ๕๘ ชิ้น ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บรรจงคัดเลือกมาเป็นของที่ระลึกตอบแทนผู้ให้การสนับสนุนการดำเนินงานด้านการศึกษาอันเข้มแข็ง เนื่องในโอกาสครบรอบ ๕๘ ปี ตึกกลม และวันคล้ายวันสถาปนาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ครบรอบ ๖๕ ปี พ.ศ. ๒๕๖๖ แผ่นไม้แดงชิ้นนี้เป็นชิ้นส่วนแห่งความทรงจำที่ทุกท่านมีร่วมกันใน “ตึกกลม” ที่สง่าผ่าเผยและแข็งแกร่ง อาคารที่สะท้อนตัวตนอันมีเอกลักษณ์และมีคุณค่าของชาวคณะวิทยาศาสตร์ทุกคน ที่ต่างก็เป็นดั่ง “สตางค์” “หนึ่งในร้อย” ในทุกหนแห่งในโลกนี้