logo


รางวัลเกียรติยศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ โศภน
(Professor Dr. Prasert Sobhon)
เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ประจำปี พ.ศ. 2547 สาขาเซลล์ชีววิทยา

ประวัติส่วนตัว

 

ศ.ดร.ประเสริฐ โศภน เกิดเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2486 ที่จังหวัดสกลนคร สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนศรีโกสุมวิทยา อ.โกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และตอนปลาย จากโรงเรียนอุดรพิทยานุกูล จังหวัดอุดรธานี โรงเรียนวัดปทุมคงคา และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพมหานคร ตามลำดับ หลังจากนั้นได้เข้าศึกษาต่อในคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดล) สาขาเตรียมแพทย์ศิริราช ภายหลังจากศึกษาได้ 1 ปี ได้รับทุนการศึกษาภายใต้แผนการโคลอมโบ จากรัฐบาลประเทศออสเตรเลีย เพื่อไปศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐออสเตรเลียตะวันตก จนได้รับปริญญาตรีด้านชีววิทยาของมนุษย์ (พ.ศ. 2509) แล้วได้รับทุนมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ไปศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา จนจบปริญญาเอก สาขาเซลล์ชีววิทยา และกายวิภาคศาสตร์ (พ.ศ. 2513) สมรสกับนางกรรณิการ์ (กุลพงศ์) โศภน มีบุตร 2 คน คือ น.ส.ขวัญหล้า โศภน และนายสินธุ โศภน

ประวัติการทำงาน

หลังจากสำเร็จการศึกษาแล้วได้เข้ารับราชการ เป็นอาจารย์ในภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และได้มุ่งมั่นดำเนินงานทั้งในด้านการสอนและการวิจัย โดยช่วงแรกของชีวิตการเป็นนักวิจัย ต้องเสาะหาเงินทุนสนับสนุนจากองค์กรต่างประเทศ เนื่องจากเงินทุนสนับสนุนการวิจัยและปัจจัยที่ได้รับจากภายในประเทศมีให้น้อยมาก จนเกือบตัดสินใจเลิกอาชีพวิจัย แต่จากการใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ พร้อมกับการมีเพื่อนนักวิจัยที่ดี และมีอุดมการณ์ร่วมกัน และบรรยากาศที่ค่อนข้างเอื้อต่อการวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงทำให้เกิดแรงบันดาลใจและความมุ่งมั่น ในการเขียนโครงการวิจัยเสนอขอทุนจากต่างประเทศ ทำให้ได้รับทุนสนับสนุนจากองค์กรระหว่างประเทศ เช่น Ford Foundation, Rockefeller Foundation, UNDP / World Bank / WHO Special Programme for Research and Training in Tropical Diseases ติดต่อกันเป็นเวลาเกิน 10 ปี จึงทำให้สามารถทำงานวิจัยอย่างจริงจังและต่อเนื่อง จนได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการสูงขึ้น จนกระทั่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ ระดับ 10 (พ.ศ. 2534) และศาสตราจารย์ ระดับ 11 ตามลำดับ จากผลงานวิจัยที่ต่อเนื่องและมีประโยชน์ โดยเฉพาะในการสร้างองค์ความรู้พื้นฐานใหม่ ทำให้ได้รับรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาการวิจัย (พ.ศ. 2528) และรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ของมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำปี พ.ศ. 2538 ในสาขาเซลล์ชีววิทยา การได้รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นฯ เป็นจุดผันแปรด้านบวก กล่าวคือ มีความมั่นใจในการประกอบอาชีพเป็นนักวิทยาศาสตร์อาชีพในประเทศไทยมากขึ้น และได้รับการนับถือและเชื่อถือในผลงานวิชาการมากขึ้น จนได้รับทุนวิจัยจาก สวทช. และ สกว. โดยเฉพาะในชุดโครงการเมธีวิจัยอาวุโส สกว. ต่อเนื่องถึง 2 สมัย จาก พ.ศ. 2540 ถึง 2547 ทำให้มีปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนการวิจัยให้ต่อเนื่องและลงลึกได้ นอกจากการเป็นนักวิจัยอาชีพแล้ว ในด้านการบริหารเคยได้รับแต่งตั้งจากสภามหาวิทยาลัยมหิดล ให้เป็น หัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์ รองคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ฝ่ายการศึกษา รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ประธานสภาวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และตำแหน่งบริหารสุดท้าย คือ คณบดี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ผลงานวิจัยโดยสรุป

เรื่องที่ 1. การศึกษาพยาธิชีววิทยา การสังเคราะห์และวิเคราะห์คุณลักษณะของแอนติเจน และยีนของพยาธิใบไม้ตับ (Fasciola gigantica) ที่มีศักยภาพในการพัฒนาวิธีตรวจสอบการติดเชื้อและวัคซีน
การวิจัยเรื่องนี้ได้ทำการศึกษาและวิเคราะห์ยีน และแอนติเจนของพยาธิที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นวัคซีน กับเพื่อใช้ตรวจสอบสภาพการติดเชื้อ แอนติเจนที่ได้ศึกษามีอยู่ 5 กลุ่ม ซึ่งเป็นโปรตีนหรือเอนไซม์ที่มีหน้าที่ต่าง ๆ กัน และมีความสำคัญในการดำรงชีพของพยาธิ ได้แก่ fatty acid binding proteins (MW 14 kDa), glutathione s-transferase (MW 28 kDA), cathepsin L และ B (MW 26-27 kDa) โปรตีนในเยื่อหุ้มผิวและชั้นผิวที่มีน้ำหนักโมเลกุล (MW) 66 และ 28.5 kDa และโปรตีนของเปลือกไข่ (vitelline B - MW 31 kDa) โดยได้ทำการสังเคราะห์ cDNA ของยีนและโปรตีนที่เป็นแอนติเจนเป้าหมาย โดยใช้วิธี molecular cloning และได้ผลิตโมโนโคลนัลแอนติบอดีต่อแอนติเจนเหล่านี้ด้วย เพื่อนำไปศึกษาลักษณะการสังเคราะห์กับการกระจายตัวของแอนติเจนเป้าหมายที่ระดับเซลล์ในเนื้อเยื่อต่างๆ ของพยาธิ แล้วทำการทดสอบศักยภาพของแอนติบอดีที่ผลิตได้ ในการตรวจสอบสภาพติดเชื้อ และได้ทดสอบศักยภาพแอนติเจนเป้าหมายส่วนหนึ่งกับ cDNA ของมัน ในการเป็นวัคซีนที่สามารถทำลายพยาธิและป้องกันการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับในหนูทดลอง องค์ความรู้เหล่านี้เป็นพื้นฐานสำคัญต่อการพัฒนาวัคซีนที่สามารถป้องกันการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับชนิดนี้ ซึ่งเป็นโรคพยาธิที่ก่อให้เกิดความเสียหายด้านเศรษฐกิจและสุขภาพของทั้งสัตว์และคนในประเทศไทยค่อนข้างสูง

 

เรื่องที่ 2. การศึกษาขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับการสังเคราะห์ และการเปลี่ยนแปลงของเบสิกนิวเคลียร์โปรตีน ที่มีผลต่อลักษณะการขดเรียงตัวของเส้นใยโครมาตินในนิวเคลียสของเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้ของสัตว์ ได้แก่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น มนุษย์ และหนู สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เช่น กบ สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ได้แก่ สัตว์ประเภท หอย gastropods สัตว์ประเภท crustaceans ได้แก่ กุ้ง ซึ่งทำให้ได้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการสังเคราะห์ การสับเปลี่ยนชนิด และความสัมพันธ์เชิงวิวัฒนาการของเบสิกนิวเคลียร์โปรตีน ได้แก่ โปรตีนฮิสโตน (histones) โปรตามีน (protamines) และโปรตีนคล้ายโรตามีน (PL proteins) ซึ่งเป็นโปรตีนโครงสร้างของของใยโครมาติน ที่เป็นตัวควบคุมการขดตัว ขนาดและรูปร่างของใยโครมาติน เพื่อเก็บรักษาและควบคุมการแสดงออกของสายพันธุกรรมในเซลล์สืบพันธุ์ของสัตว์ชนิดต่างๆ องค์ความรู้ดังกล่าวเป็นพื้นฐานสำคัญที่อธิบายกระบวนการสร้างเซลล์สืบพันธุ์ การเก็บรักษาสารพันธุกรรม โดยเฉพาะการจัดระดับ การเรียงตัวและการขดตัวกระชับของใยโครมาตินในเซลล์สืบพันธุ์ของสัตว์ ซึ่งแตกต่างจากการจัดระดับและการขดตัวของใยโครมาตินในเซลล์ร่างกาย อันจะนำไปสู่ความเข้าใจถึงการแสดงออกของยีนในช่วงหลังการปฏิสนธิ และในช่วงการพัฒนาร่างกายของตัวอ่อน

 

เรื่องที่ 3. การควบคุมกระบวนการสร้างและการหลังเซลล์สืบพันธุ์ โดยฮอร์โมนประสาทในหอยเป๋าฮื้อ Haliotis asinina โครงการวิจัยเรื่องนี้ได้ศึกษาชนิด ตำแหน่ง และการกระจายของเซลล์ที่ผลิตฮอร์โมนประสาท สารสื่อประสาท และฮอร์โมนอื่นๆ ซึ่งมีส่วนในการควบคุมพัฒนาการของอวัยวะสืบพันธุ์กับกระบวนการสร้าง และการปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ในหอยเป๋าฮื้อ Haliotis asinina ซึ่งเป็นหอยที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่งทะเลของประเทศไทย และเป็นหอยที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจสูง ฮอร์โมนเป้าหมายที่ได้ศึกษา คือ พวก neuropeptide กับ neuroamides ได้แก่ egg-laying hormone (ELH) และ FMRFamide พวก neurotransmitters ได้แก่ serotonin (5HT), octopamine (OA), GABA โดยได้ทำการสังเคราะห์ cDNA และโปรตีนของฮอร์โมนประสาท ELH ด้วยกรรมวิธี molecular cloning แล้วได้ทำการผลิตแอนติบอดีต่อฮอร์โมนประสาท ELH กับแอนติบอดีต่อสารสื่อประสาท และฮอร์โมนอื่นๆ ดังกล่าวแล้ว เพื่อนำไปตรวจหาชนิด และการกระจายของเซลล์ที่ผลิตฮอร์โมนเหล่านี้ในเนื้อเยื่อประสาท และเนื้อเยื่อสืบพันธุ์ของหอยเป๋าฮื้อ โดยวิธี immunocytochemistry หลังจากนั้นก็ได้ศึกษาผลกระทบของฮอร์โมนต่างๆ ต่อกระบวนการสร้างและการปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ ทดสอบความสามารถของเซลล์สืบพันธุ์ที่เก็บได้จากการกระตุ้นด้วยฮอร์โมน ในการปฏิสนธิ แบบ in vitro fertilization เพื่อเปรียบเทียบกับเซลล์สืบพันธุ์ที่เก็บโดยสภาพธรรมชาติ ข้อมูลจากการวิจัยนี้อาจนำไปประยุกต์ใช้ในการเร่งพัฒนาการของเซลล์สืบพันธุ์ และการเลือกกระตุ้นการปลดปล่อยเซลล์สืบพันธุ์จากสัตว์พ่อแม่พันธุ์ตามกำหนดเวลาที่สะดวก เพื่อนำไปผสมแบบ in vitro fertilization ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในกระบวนการเลี้ยงเชิงพาณิชย์ต่อไป

งานวิจัยในอนาคต

การกระตุ้นด้วยฮอร์โมนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการสืบพันธุ์ของหอยเป๋าฮื้อและกุ้ง

หอยเป๋าฮื้อ Haliotis asinina

ประเทศไทยได้มีการพัฒนาระบบเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อที่ก้าวหน้าไปมาก แต่ผลผลิตต่อหน่วยพื้นที่การเลี้ยงก็ยังมีปริมาณเพิ่มขึ้นไม่มากนัก อีกทั้งการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ในสภาพที่ไม่เหมือนธรรมชาติ ทำให้ลดประสิทธิภาพการสืบพันธุ์ลง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้สารฮอร์โมนช่วยกระตุ้น แต่การจะกระทำเช่นนั้นได้ ต้องมีองค์ความรู้พื้นฐาน และความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการควบคุมพัฒนาการ และการทำงานของระบบสืบพันธุ์โดยฮอร์โมน ในหอยเป๋าฮื้อซึ่งเป็นหอยชั้นต่ำ ยังไม่มีการศึกษาที่ให้องค์ความรู้อย่างลึกซึ่งเกี่ยวกับกระบวนการดังกล่าว ดังนั้นจุดประสงค์หลักของโครงการวิจัยนี้คือ การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสารสารสื่อประสาท (Neurotransmitter-NE), สารขยายสัญญาณประสาท (Neuromodulator-NM) และฮอร์โมนที่ควบคุมการสืบพันธุ์ในหอยเป๋าฮื้อ โดยจะเน้นการค้นหาและศึกษาคุณลักษณะของยีนที่เก็บรหัสสารปรับสัญญาณประสาท gonadotrophin releasing hormone (GnRH) และฮอร์โมนกระตุ้นการปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ egg-laying hormone (ELH) ในหอยเป๋าฮื้อพันธุ์พื้นเมือง (Haliotis asinina) แล้วทำการสังเคราะห์สาร GnRH และฮอร์โมน ELH ด้วยวิธีพันธุวิศวกรรม (DNA recombinant technology) เพื่อนำไปทดลองกระตุ้นการพัฒนาของรังไข่กับเซลล์ไข่ และการตกไข่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่เลี้ยงไว้ ทำให้สะดวกต่อการกำหนดระยะเวลาปล่อย และเก็บเกี่ยวเซลล์สืบพันธุ์ที่แน่นอน สะดวกต่อการเก็บรักษาเซลล์สืบพันธุ์เพื่อนำไปปฏิสนธิโดยวิธี in vitro fertilization ต่อไป นอกจากนั้นแล้วยังจะศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสารฮอร์โมนประสาท GnRH และ ELH กับสารสื่อประสาทบางตัว เช่น serotonin, dopamine, octopamine, GABA ในการควบคุมพัฒนาของต่อมสืบพันธุ์ (gonad) การพัฒนาของเซลล์สืบพันธุ์ การปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ และศึกษาอิทธิพลของ GABA และ 5alpha aminovaleric acid (5AVA) ต่อการลงเกาะและการเมตามอฟอซิส ตลอดจนอัตราการอยู่รอดของตัวอ่อนของหอยเป๋าฮื้อ

กุ้งก้ามกราม (Macrobrachium rosenbergii) และ กุ้งกุลาดำ (Penaeus monodon)

ระบบการเลี้ยงกุ้งก็มีการพัฒนาไปมากเช่นเดียวกับระบบการเลี้ยงหอย เนื่องจากกุ้งเป็นสินค้าส่งออกและบริโภคภายในประเทศที่ทำรายได้ให้เกษตรกรมาก แต่องค์ความรู้พื้นฐานและความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการควบคุมระบบสืบพันธุ์ของกุ้งโดยฮอร์โมนต่างๆ ก็ยังมีอยู่น้อยมาก ที่ผ่านมามีการวิจัยพื้นฐานในกุ้ง crayfish (P.clarkii) และ lobster (H.americanus) ทำให้ทราบว่า optic lobe ในก้านตาของกุ้งเป็นแหล่งของ neuro-seretory cells ที่สร้างฮอร์โมนซึ่งควบคุมการลอกคราบ (molt inhibiting ormone-MIH) ฮอร์โมนกระตุ้นระดับน้ำตาลในเลือด (crustacean hyperglycemic hormone-CHH) ฮอร์โมนห้ามการพัฒนาต่อมสืบพันธุ์ (gonad inhibiting hormone-GIH) พบว่าฮอร์โมนทั้งสามชนิดมีลำดับกรดอะมิโนคล้ายคลึงกัน จึงน่าจะมีกำเนิดจากยีนตัวเดียวกัน นอกจากนั้นยังมีฮอร์โมนกระตุ้นการพัฒนารังไข่ (gonad stimulating hormone-GSH) ที่ผลิตจากส่วนปมประสาทช่วงอก (thoracic ganglia) และระบบประสาทกลาง (CNS) ซึ่งทำหน้าที่กระตุ้นการพัฒนาของรังไข่กับเซลล์ไข่ ตลอดจนลักษณะและพฤติกรรมของเพศเมีย นอกจากนี้เรายังพบว่ามีฮอร์โมน ELH ในรังไข่ของกุ้งเช่นเดียวกับในหอยเป๋าฮื้อ จึงอาจเป็นไป ได้ว่า pELH ทำหน้าที่คล้ายกับ aELH ในหอยในกุ้งเพศผู้ยังมีฮอร์โมนจากต่อมเพศผู้คือ androgenic gland hormone (AH) ซึ่งทำหน้าที่กระตุ้นการพัฒนาของต่อมอัณฑะและเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้ ตลอดจนลักษณะและพฤติกรรมของเพศผู้ ฮอร์โมนเหล่านี้อาจจะถูกควบคุมอีกต่อหนึ่งโดยสารสื่อประสาท (neurotransmitters-NE) และสารปรับสัญญาณประสาท (neuromodulators-NM) โดยมีระดับการควบคุมที่มีหลักการคล้ายๆ กับในหอย ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่า เราอาจจะใช้ฮอร์โมนและ/หรือสารสื่อประสาท และ/หรือสารปรับสัญญาณประสาทเหล่านั้น กระตุ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการสืบพันธุ์ของพ่อแม่พันธุ์กุ้ง โดยอาจจะใช้แทนการตัดตาแม่กุ้ง เพื่อให้เกิดการพัฒนาไข่และการตกไข่ โดยการกระตุ้นด้วยฮอร์โมน เช่น ELH หรือสารสื่อประสาทเช่น serotonin และสารปรับสัญญาณประสาท เช่น GnGH ซึ่งมีผลตรงกันข้ามกับ GIH ดังนั้นในการวิจัยส่วนนี้เราจึงจะเสาะหาและศึกษาคุณลักษณะยีนของ pELH และ pGnRH ในกุ้ง แล้วทำการสังเคราะห์ recombinant proteins เพื่อนำมากระตุ้นกระบวนการสืบพันธุ์ของกุ้งเพศเมียดังกล่าวแล้ว ส่วนในกุ้งก้ามกรามเพศผู้จะพยายามหายีนของ AH แล้วสังเคราะห์ recombinant AH เพื่อนำไปทดลองกระตุ้นการพัฒนาของอัณฑะและเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้ การกระตุ้นให้พ่อแม่พันธุ์มีการพัฒนาอวัยวะสืบพันธุ์ กับการมีพฤติกรรมการสืบพันธุ์พร้อมๆ กัน โดยการใช้สารฮอร์โมน ELH, AH และ/หรือสารสื่อประสาท (serotonin/dopamine) และ/หรือสารปรับสัญญาณประสาท (GnRH) และสารฮอร์โมนอื่นๆ เช่น methyl farnesoate อาจทำให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการสืบพันธุ์ของพ่อพันธุ์แม่พันธุ์กุ้งที่เลี้ยงในสภาพกักขังได้ดีขึ้น และทำให้ได้เซลล์สืบพันธุ์และตัวอ่อนที่ดีขึ้น ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ส่วนการเข้าใจระบบควบคุมการแสดงออกของเพศในกุ้ง เช่น เพศผู้อาจจะถูกควบคุมโดยฮอร์โมน AH และ testosterone ส่วนเพศเมียด้วย GSH, ELH และ estradiol อาจจะนำไปประยุกต์ใช้ในการเปลี่ยนเพศของกุ้งได้ โดยเฉพาะในกุ้งก้ามกรามการเปลี่ยนเพศจากตัวเมียเป็นตัวผู้ ทำให้มีอัตราการเจริญเติบโตและมีขนาดใหญ่กว่า ซึ่งถ้าหากสามารถทำได้ก็อาจทำให้เพิ่มผลผลิตและมูลค่าจากการเลือกเลี้ยงเฉพาะกุ้งตัวผู้เพื่อส่งตลาด

การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์

 

ผลงานการศึกษาเรื่อง "พยาธิชีววิทยาการสังเคราะห์และวิเคราะห์คุณลักษณะของแอนติเจน และยีนของพยาธิใบไม้ตับ Fasciola gigantica" มี cDNA ที่สังเคราะห์และเก็บรักษาไว้ได้ 4 กลุ่ม คือ Cathepsin B1, B2, B3, Cathepsin L1A, L1B, L1D, L1E, L1E, L1G, L1H, fatty acid binding protein (FABP), gluthatione S-transferase (GST) (ดูข้อมูลจากฐานข้อมูล NCBI) cDNA บางตัว (GST, CAT L1A) ได้ถูก expressed เป็น recombinant proteins แล้ว โดยระบบ prokaryotic cells (E. Coli) และที่เหลือ (Cat B, FABP) กำลังพยายาม expressed ใน eukaryotic cells (Yeast) เมื่อได้แล้วจะนำ cDNA clones ต่างๆ เหล่านี้ และ recombinant proteins ที่ได้ไปทดสอบประสิทธิภาพการเป็น vaccines ในสัตว์ใหญ่ (วัว ควาย) นอกจากนั้นยังได้ผลิตและเก็บรักษาเซลล์ hybridoma ที่ผลิต monoclonal antibodies (MoAb) ต่อ Cat L, GST, FABP และต่อแอนติเจนจากชั้นผิวที่ molecular weight 28.5 kDa MoAb และ recombinant proteins ที่ผลิตได้จะถูกนำไปพัฒนาชุดตรวจสอบการติดเชื้อต่อไป โดยจะร่วมมือกับสถาบันผลิตสัตว์และสุขภาพสัตว์ และกรมปศุสัตว์

 

ผลจากการศึกษาเรื่อง "การควบคุมกระบวนการสร้างและหลั่งเซลล์สืบพันธุ์โดยประสาทฮอร์โมนในหอยเป๋าฮื้อ" สามารถสังเคราะห์และเก็บรักษา cDNA ของ abalone egg laying hormone (aELH) ไว้ได้ ซึ่งสามารถ express เป็น recombinant ELH ได้แล้ว ขณะนี้กำลังทำการทดสอบประสิทธิภาพในการกระตุ้นการหลั่งเซลล์สืบพันธุ์จากหอยพ่อแม่พันธุ์ โดยประสานงานกับกลุ่มวิจัยของนายธเนศ พุ่มทอง ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ กรมประมง ต.คลองวาฬ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อได้ผลเป็นที่น่าพอใจแล้วก็จะพัฒนาเป็นชุดน้ำยา ที่สามารถนำไปฉีดกระตุ้นการตกไข่ และการปล่อยอสุจิจากหอยเป๋าฮื้อแม่พันธุ์และพ่อพันธุ์ได้ ส่วนการศึกษาเกี่ยวกับสารสื่อประสาท GABA (g-Aminobutyric acid) พบว่าสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการกระตุ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการลงเกาะและการกลายสภาพ (settlement, metamorphosis) และการอยู่รอด (survival) ของตัวอ่อนหอยเป๋าฮื้อ อันจะเป็นประโยชน์ในการเพิ่มผลผลิตหอยในการเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์อย่างมาก โดยเฉพาะการนำวิธีนี้เผยแพร่สู่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อ โดยผ่านศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงฯ ต่อไป

 


จากหนังสือ :
เมธีวิจัยอาวุโส สกว. 2547-2548. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2548.