logo

ภาพข่าวกิจกรรมคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาพข่าวและกิจกรรมประจำปี 2561

 

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนาพิเศษ Science Café ตอน เจาะลึกรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ปี 2018 : สู้มะเร็งด้วยภูมิคุ้มกัน

เมื่อไม่นานมานี้ คณะกรรมการพิจารณารางวัลโนเบล สถาบัน Swedish Academy ได้ประกาศรายชื่อผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ ปี 2018 โดยผู้ที่ได้รับรางวัลได้แก่ ศาสตราจารย์ เจมส์ พี. แอลลิสัน (James P. Allison) จากมหาวิทยาลัยเทกซัสของสหรัฐอเมริกา และ ศาสตราจารย์ ทาซุกุ ฮอนโจ (Tasuku Honjo) จากมหาวิทยาลัยเกียวโตของญี่ปุ่น ผู้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการรักษามะเร็งในรูปแบบใหม่ด้วยระบบภูมิคุ้มกันร่างกายของมนุษย์ (cancer immunotherapy) ผ่านการปลดล็อคตัวยับยั้งโปรตีนบนเซลล์เม็ดเลือดขาวของผู้ป่วยที่มีหน้าที่เข้าจู่โจมเซลล์มะเร็งโดยตรง ทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวสามารถทำลายเซลล์มะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

และเพื่อเป็นการอธิบายผลงานชิ้นสำคัญนี้ รวมถึงสร้างแรงบันดาลใจและความตระหนักต่อบทบาทและความสำคัญของวิทยาศาสตร์ ให้กับนักเรียน นักศึกษา และผู้ที่สนใจด้านวิทยาศาสตร์ ในปีแห่งการเฉลิมฉลองครบรอบ 60 ปีแห่งการก่อตั้ง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลจึงจัดกิจกรรมเสวนาพิเศษ Science Café ตอน เจาะลึกรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ปี 2018 ในวันพุธที่ 10 ตุลาคม 2561 เวลา 13.30 – 15.00 น. ณ ห้อง L-05 อาคารบรรยายรวม ตึกกลม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ทพ.สถิตย์ สิริสิงห ผู้มีความรู้ความสามารถพิเศษประจำภาควิชาจุลชีววิทยา รองศาสตราจารย์ ดร. พญ.ชนิตรา ธุวจิตต์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาภูมิคุ้มกัน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และ นพ.พิชัย จันทร์ศรีวงศ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ร่วมพูดคุยทำความเข้าใจเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยด้านการรักษามะเร็งในรูปแบบใหม่ด้วยระบบภูมิคุ้มกันร่างกายมนุษย์ของนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลทั้งสองท่าน

ศาสตราจารย์แอลลิสัน ได้ค้นพบโปรตีน CTLA-4 ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวรับบนเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์ (T-cell) และพบว่าโมเลกุลของตัวรับชนิดนี้จะยับยั้งการทำงานของภูมิคุ้มกันร่างกาย ในปี ค.ศ.1995 จึงทดลองปิดกั้นการทำงานของ โปรตีน CTLA-4 ในหนูทดลอง นำไปสู่การขยายผลการศึกษาโดยนำไปผลิตเป็นยาเพื่อบำบัดมะเร็งผิวหนัง ที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) อนุมัติให้ใช้แอนติบอดีต้านโปรตีน CTLA-4 เป็นยารักษามะเร็งผิวหนังที่มีชื่อทางการค้าที่รู้จักกันทั่วไปว่า “เยอร์วอย” (Yervoy) ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงในการรักษาผู้ป่วยในบางกรณี โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ที่ไม่เคยรักษาได้มาก่อน ในปี ค.ศ.2011 ส่วนทางด้านศาสตราจารย์ฮอนโจนั้น ได้ค้นพบโปรตีนบนเซลล์ภูมิคุ้มกันที่ชื่อ ลิแกนด์ PD-1 (ligand PD-1) และพบว่าการยับยั้งการทำงานของโปรตีนชนิดนี้ก็สามารถทำลายเซลล์มะเร็งได้เช่นกัน และยังได้ผลกับการรักษามะเร็งหลายประเภทอีกด้วย ซึ่งต่อมาในปี ค.ศ. 2014 แอนติบอดีต้านโปรตีน ลิแกนด์ PD-1 (ligand PD-1) ก็ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) ให้เป็นยาเพื่อการทดลองรักษามะเร็งต่อไป

ภาพถ่าย : นายมานะ ไผ่มณี และ นางสาวจิณนพัฒ มหานนท์
เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : ดร.ณภัศศรณ์ ปัญญาสุข
เว็บมาสเตอร์ : นางอริศรา รักษ์ดำรงธรรม