logo

ภาพข่าวกิจกรรมคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาพข่าวและกิจกรรมประจำปี 2560

 

Science Café: The 49th International Chemistry Olympiad in Thailand talk series ตอน Ex-Olympiad

จากงานเสวนา Science Café ครั้งที่ผ่านมาเรื่อง The 49th International Chemistry Olympiad in Thailand talk series ตอน Back to the ICHO ได้พูดคุยถึงประวัติ ความเป็นมาของการแข่งขันเคมีโอลิมปิก นานาชาติ โดยเริ่มมีขึ้นครั้งแรก ณ ประเทศเช็กสโลวาเกีย (Czechoslovakia) ในปี พ.ศ. 2511 และประเทศไทยเริ่มเข้าร่วมครั้งแรกในปี พ.ศ. 2533 ณ ประเทศฝรั่งเศส โดยในปีนี้ ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นครั้งที่ 2 ในการเป็นเจ้าภาพการแข่งขัน ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6 - 15 กรกฎาคม 2560 ณ มหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และเพื่อเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียน นักศึกษาที่จะเข้าแข่งขันในครั้งนี้ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้จัดการเสวนา Science Café ขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ในชื่อตอน Ex-Olympiad เส้นทางศิษย์เก่าโอลิมปิก ในวันพุธที่ 17 พฤษภาคม 2560 เวลา 14.00 – 16.00 น. ณ ห้องประชุม K102 อาคารเฉลิมพระเกียรติ คณะวิทยาศาสตร์ วิทยาเขตพญาไท โดยการเสวนาในครั้งนี้เป็นการรวมตัวของผู้มากด้วยประสบการณ์ระดับแนวหน้า ซึ่งเคยเป็นผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมแข่งขัน International Chemistry Olympiad ในอดีต มาพูดคุยถึงประสบการณ์ตรงในการเป็นผู้ร่วมแข่งขัน การเตรียมความพร้อม โดยมีดร.ระพี บุญเปลื้อง ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์เป็นผู้ดำเนินรายการ และผู้ร่วมเสวนาด้วยกันทั้งหมด 4 ท่าน ซึ่งปัจจุบันล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน

ดร.ทรงพล ดีจงกิจ กรรมการผู้จัดการ / กรรมการบริหาร / เลขานุการคณะกรรมการบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด /กรรมการบริหาร บริษัท เอเพ็กซ์เซล่า จำกัด /กรรมการผู้จัดการ บริษัทแอปสลาเจน จำกัด ร่วมแข่งขันเคมีโอลิมปิก ปี พ.ศ. 2536 ณ ประเทศอิตาลี แชร์ประสบการณ์การแข่งขันว่ามีความเครียดสูงในช่วงแรกของการแข่งขัน แต่พอจัดการกับความเครียดได้ผลคะแนนการสอบก็ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด การแข่งขันในครั้งนั้นถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนแปลงของชีวิต ทำให้มีการตั้งเป้าหมายในชีวิตมากขึ้น ทำให้รู้ว่าชอบในสาขาวิชาอะไรและเลือกที่จะไปต่อในอนาคตได้ จุดเปลี่ยนในชีวิตคือทำให้รู้จักการจัดการสถานการณ์ต่างๆ ที่เข้ามา เป้าหมายแรกคือรางวัล เป้าหมายที่สองคือประสบการณ์ ทำให้สนใจวิทยาศาตร์ในมุมที่กว้างขึ้น มีการประสมประสานประสบการณ์ต่างๆ เหมือนดังเช่นประสบการณ์ทางเคมี

อาจารย์พิเชษฐ์ โพธิสุทธิ์วาที หัวหน้าฝ่ายบ่มเพาะชีวิตนักเรียน โรงเรียนปัญญาประทีป ปากช่อง นครราชสีมา ร่วมแข่งขันเคมีโอลิมปิก ปี พ.ศ. 2538 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้รับเหรียญเงิน ให้ข้อเสนอแนะน้องๆ ที่จะร่วมแข่งขันว่า การศึกษาจากตำราต่างประเทศก็ทำให้เราได้ความรู้ที่หลากหลายขึ้น เนื่องจากตำราต่างประเทศ มีภาพและสีสรรค์ที่น่าสนใจ ง่ายต่อการจดจำ จากประสบการณ์การแข่งขัน รุ่นที่ตนเองเข้าแข่งขันนั้นถือว่ามีความกดดันสูงเนื่องจากรุ่นพี่หลายๆ ท่านเคยได้เหรียญรางวัลจากการแข่งขันในครั้งที่ผ่านๆ มา การแข่งขันนั้นถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาการสอบที่ยาวนานมาก และตนเองไม่ได้ฝึกฝนการทำข้อสอบอย่างต่อเนื่อง 5 ชั่วโมงมาก่อน จึงถือได้ว่าเป็นช่วงที่ทดสอบสภาพจิตใจมากๆ ต้องอดทนต่อแรงกดดัน แต่จริงๆ แล้วข้อสอบก็ไม่ได้แตกต่างจากตัวอย่างที่เราเคยได้ทำมา การสอบในครั้งนั้นทำให้เรามั่นใจในตนเอง กล้าที่จะฝันในสิ่งที่ใหญ่ขึ้น และเข้าใจธรรมชาติของวิชาเคมีได้ดียิ่งขึ้นด้วย

ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ร่วมแข่งขันเคมีโอลิมปิก ปี พ.ศ. 2534 ณ ประเทศโปแลนด์ แชร์ประสบการณ์ การแข่งขันว่าการไม่เครียดกับการแข่งขันคือดีที่สุด ส่วนตัวเป็นคนที่รู้วิธีในการจัดการทางความเครียด ดูแลสมอง ดูแลกาย และดูแลจิตใจไปพร้อมๆ กัน คิดว่าการแข่งขันเป็นการไปหาประสบการณ์ และเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนๆ สิ่งที่ได้กลับมาคือมิตรภาพจากการแข่งขัน ซึ่งเพื่อนบางคนยังติดต่อกันจนถึงปัจจุบันนี้ อีกประสบการณ์ที่ได้จากการแข่งขันคือทำให้ได้เรียนรู้จากความผิดพลาดมากกว่าเรียนรู้จากความถูกต้อง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราหาไม่ได้จากโรงเรียน ทำให้เรารู้ว่าไม่สามารถทำอะไรได้ด้วยตัวคนเดียว คนรอบข้างถือได้ว่ามีส่วนสำคัญมากที่ช่วยให้ประสบความสำเร็จในครั้งนี้

ดร.วีรกาญ ตันติไพบูลย์ธนะ Chief Process Officer (CPO), Netizen Co., Ltd. ร่วมแข่งขันเคมีโอลิมปิก ปี พ.ศ. 2534 ณ ประเทศโปแลนด์ เล่าประสบการณ์ของตนเองว่า การเตรียมตัวสอบก็เหมือนกับเด็กทั่วๆ ไป คือการทบทวนจากข้อสอบเก่า ทดสอบภาคปฏิบัติ และคลายความเครียดด้วยการเล่นฟุตบอลกับเพื่อนๆ หลังจากติวเสร็จ เป็นการช่วยผ่อนคลายจากความเครียดได้วิธีหนึ่ง การแข่งขันในครั้งนั้นทำให้ทราบถึงความถนัดของตนเองในด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันวิทยาศาสตร์มีทางเลือกมากขึ้นกว่าในอดีต ตนเองนั้นเลือกที่จะเรียนต่อในด้านเศรษฐศาสตร์ เนื่องจากคิดว่าอยากเรียนรู้ด้านอื่นๆ มากขึ้น แต่ด้านวิทยาศาตร์ที่เคยได้เรียนมานั้นก็สามารถนำมาประยุกต์กับศาสตร์แขนงอื่นๆ ได้เช่นกัน

การจัดงานเสวนาในครั้งนี้ เป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่จะเข้าร่วมแข่งขัน รวมถึงผู้ที่สนใจการแข่งขัน เพื่อสร้างนักเคมีที่มีความรู้ ความสามารถ ทัดเทียมนานาประเทศต่อไปในอนาคต รวมถึงให้สังคมตระหนักถึงบทบาทต่างๆ ของผู้แทนประเทศไทยที่เคยเข้าร่วมแข่งขัน International Chemistry Olympiad ต่อการพัฒนาประเทศไทยในหลายมิติ

 

 

ถ่ายภาพ : นายเทพทัต คุ้มสังข์
เขียนข่าว : นางสาวปนิดา พยุหกฤษ
เว็บมาสเตอร์ : นางสาวเฉิดฉันทร์ ราชบุรณะ