logo

ภาพข่าวกิจกรรมคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาพข่าวและกิจกรรมประจำปี 2562

 

คณะวิทยาศาสตร์จัดปาฐกถาพิเศษ Nobel Laureate Lecture
ในหัวข้อ The Joy of Learning & Discovery an adventure in unknown world of the very small

ในโอกาสที่ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีอายุครบรอบ 60 ปี และได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพการจัดประชุม งานประชุมวิชาการนานาชาติ Pure and Applied Chemistry International Conference (PACCON) 2019 ร่วมกับสมาคมเคมีแห่งประเทศไทยในพระอุปถัมภ์ของศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ภายใต้แนวคิด Together for the Benefit of Mankind ประกอบกับปี 2019 นี้ ตรงกับการครบรอบ 150 ปี ตารางธาตุ ภาควิชาเคมี จึงเชิญ Professor Bernard L. Feringa นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลสาขาเคมี ประจำปี 2016 จาก Stratingh Institute for Chemistry University of Groningen ประเทศเนเธอร์แลนด์ มาแสดงปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ The Joy of Learning & Discovery an adventure in unknown world of the very small เพื่อเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไปที่สนใจด้านวิทยาศาสตร์ ในวันพุธที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 13.30 - 15.30 ณ ห้อง L01 ตึกกลม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท ซึ่งมีนักเรียนนักศึกษา คณาจารย์และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมถึงหน่วยงานภาคเอกชนเข้าร่วมกว่า 187 คน

Professor Bernard L. Feringa ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับโมเลกุลสังเคราะห์ที่มีขนาดระดับนาโน โดยใช้ความเชี่ยวชาญด้านการสังเคราะห์จากสารอินทรีย์เคมีและสเตอริโอเคมี (Stereochemistry) ศึกษาการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของโมเลกุลในลักษณะสามมิติด้วยการกระตุ้นจากพลังงานภายนอก งานวิจัยที่สำคัญคือการพัฒนาโมเลกุลสังเคราะห์ให้มีคุณสมบัติเฉพาะ โดยสร้างโมเลกุลเลียนแบบมอเตอร์ที่มีอยู่ในธรรมชาติ เช่น มอเตอร์ที่ใช้ขับเคลื่อนแฟลเจลลัมของแบคทีเรีย (Flagellum Bacterial) ซึ่งเป็นจักรกลนาโนชีวภาพที่สมบูรณ์แบบของธรรมชาติทำหน้าที่ช่วยในการเคลื่อนที่ของแบคทีเรีย ส่วนหลักการทำงานของโมเลกุลาร์มอเตอร์ที่สังเคราะห์ขึ้นนั้น โมเลกุลสามารถรับพลังงานภายนอก เช่น กรด เบส ความร้อน หรือ แสง แล้วเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง เกิดการเคลื่อนที่หรือการจัดเรียงตัวใหม่อย่างมีทิศทางที่แน่นอน (Molecular Motor) ซึ่งถือเป็นการเอาชนะการหมุนที่ไร้ทิศทางในระดับนาโน นอกจากนั้นยังได้ออกแบบนาโนแมชชีนในรูปแบบของรถ (Nano car) ที่มีลักษณะคล้ายเครื่องยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อได้สำเร็จในปี 2011 โดยนำเอา Molecular Motor มาประกอบเป็นล้อของรถ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผลงานที่ทำให้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมี ร่วมกับ Professor Jean-Pierre Sauvage และ Professor Sir James Fraser Stoddart ที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับนาโนแมชชีนเช่นกันในปี 2016

ด้วยผลงานดังกล่าวอาจนำไปสู่การพัฒนาการขนย้ายหรือส่งยาไปยังเซลล์เป้าหมายในร่างกาย (Smart drug) และนําไปสู่การรักษาโรคที่มีประสิทธิภาพในอนาคต เช่น ยารักษามะเร็ง โดยนำเอาโมเลกุลของยาขนถ่ายไปกับนาโนแมชชีนเพื่อส่งไปยังเป้าหมาย (target cell) ทั้งนี้ Smart drug ยังคงต้องอาศัยการพัฒนาเพื่อเอาชนะข้อจำกัดของการควบคุมนาโนแมชชีนในสภาวะแวดล้อมภายในร่างกายมนุษย์ซึ่งมีอุณหภูมิ หรือปัจจัยหลายๆ อย่างที่แตกต่างกับการทดลองในห้องปฏิบัติการ นอกจากการนำเอานาโนแมชชีนไปใช้ในการรักษาแล้ว ปัจจุบันยังมีการนำเอานาโนแมชชีนไปประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรมซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์มากยิ่งขึ้นอีกด้วย เช่น การเคลือบนาโนแมชชีนบนผิวกระจกเพื่อทำให้คุณสมบัติของพื้นผิวเปลี่ยนแปลงไป เป็นต้น

รองศาสตราจารย์ ดร.ปราณี ภิญโญชีพ หัวหน้าภาควิชาเคมี ได้กล่าวรายงานกิจกรรมปาฐกถา Nobel Laureate ในครั้งนี้ว่า ถือเป็นโอกาสพิเศษที่สำคัญอย่างยิ่งของคณะฯ ที่ได้ต้อนรับ Professor Bernard L. Feringa นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลสาขาเคมี ประจำปี 2016 ซึ่งการบรรยายครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียน นักศึกษาและนักวิจัยแล้ว ยังเป็นการเปิดโอกาสใหม่ๆ ในด้านการศึกษาและการวิจัย การเชื่อมโยงจากงานวิจัยไปสู่การต่อยอดใช้ได้จริงในเชิงพาณิชย์ อีกทั้งยังเป็นการเชื่อมโยงเครือข่ายด้านวิทยาศาสตร์ให้มีความเจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

ภาพถ่าย : นายนภาศักดิ์ ผลพานิช และ นางสาวสปัน เสถียรกิจ
เขียนข่าว: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย ดร.ณภัศศรณ์ ปัญญาสุข และ ดร.นพพร เรืองสุภาภิชาติ
เว็บมาสเตอร์ : นางสาวนุชสรา บุญครอง