logo

ภาพข่าวกิจกรรมคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาพข่าวและกิจกรรมประจำปี 2556

 

คณะวิทย์ มหิดล สร้างเสริมอาจารย์รุ่นใหม่ ก้าวสู่การเป็นนักวิจัยชั้นเลิศ
ในโครงการ Young Investigators Retreat

ระหว่างวันที่ 1-3 กุมภาพันธ์ 2556 ณ อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ศ.ดร. ศกรณ์ มงคลสุข คณบดี เป็นประธานเปิดงาน สัมมนา Young Investigators Retreat โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า "...นับเป็นประวัติศาสตร์ของคณะฯ ที่งานวิจัยได้จัดงานเพื่อให้อาจารย์รุ่นใหม่ ที่เข้ามาทำงานไม่เกิน 7 ปี ได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน ได้มารู้จักกันมากขึ้น ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ร่วมกัน... อนาคตอยู่ในมือของท่านแล้ว ถ้าทุกคนได้รู้จักกัน รู้ว่าปัจจุบันคณะฯ เป็นอย่างไร และอนาคตต่อไปของคณะฯ จะเป็นเช่นไร ก็จะทำให้ทุกคนเกิดความร่วมมือร่วมใจกัน..."

จากนั้น ศ.ดร. พิมพ์ใจ ใจเย็น รองคณบดีฝ่ายวิจัย ได้กล่าวถึง "...สถานการณ์วิจัยของคณะฯ ในปัจจุบัน...บอกเล่าถึงการเข้าถึงเครื่องมือ แหล่งทุน ฯลฯ ที่จะช่วยให้อาจารย์รุ่นใหม่ใช้เป็นกำลังสำคัญในการดำเนินการวิจัยต่อไป ต่อด้วย ศ.ดร. ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย บอกกล่าวถึง แนวทางการขอทุนของนักวิจัย เพื่อช่วยให้อาจารย์รุ่นใหม่ได้มีช่องทางในการขอทุนวิจัย สนับสนุนจากแหล่งทุนภายนอก ต่อด้วยกิจกรรมที่เสริมสร้างให้อาจารย์รุ่นใหม่ได้รู้จักคุ้นเคยในงานวิจัยของแต่ละคนมากขึ้น เพื่อจะก่อให้เกิดการผนึกกำลังในการนำไปสู่การทำงานวิจัยแบบมุ่งเป้าและบูรณาการ ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติ เพื่อตอบสนองต่อการพัฒนาประเทศ และเป็นการเปิดโอกาสให้อาจารย์รุ่นใหม่ที่อยู่ต่างภาควิชาได้รู้จักกันมากขึ้น จนสร้างความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อเป็นพลังในการพัฒนาคณะฯ ให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืนต่อไป ด้วยการให้อาจารย์แต่ละท่านได้แนะนำตัวและงานวิจัยของตัวเอง ในกิจกรรม Mini talk

ศ.ดร. ศกรณ์ มงคลสุข คุณรุจเรขา วิทยาวุฑฒิกุล ได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์และจำเป็นสำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่ ในอันที่จะทำให้ทราบว่า ทำงานวิจัยในเมืองไทยอย่างไรให้ได้ตีพิมพ์ผลงานที่มีคุณภาพ และการเลือกวารสารเพื่อตีพิมพ์ เพื่อหลีกเลี่ยงวารสารที่ไม่น่าเชื่อถือทางวิชาการ (predatory publishers) สิ่งที่ท่านคณบดีเน้นกับอาจารย์รุ่นใหม่ก็คือ ขอให้ทุกคนช่วยกันทำให้คณะวิทย์ เป็นสถานที่เรียน และสถานที่ทำงาน ที่พึงปรารถนาสำหรับทุกคน โดยให้ผู้เลือกรู้สึกว่า คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล ดีจังเลย

เพื่อให้อาจารย์รุ่นใหม่ได้รับทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตในคณะฯ และความก้าวหน้าในวิชาชีพของตนเอง ศ.ดร. นทีทิพย์ กฤษณามระ ได้อธิบายเรื่องการขอตำแหน่งทางวิชาการ ว่าสามารถดำเนินการอย่างไร มีขั้นตอนอย่างไร พร้อมกับแนะนำผู้ที่จะช่วยเหลือในการดำเนินการขอตำแหน่ง จากนั้น รศ.ดร. วัฒนา วีรชาติยางนุกูล มาบอกกล่าวถึงสวัสดิการที่อาจารย์รุ่นใหม่จะได้รับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรักษาพยาบาล สิทธิในการกู้ยืม การรับเงินสงเคราะห์โอกาสต่าง ๆ เป็นต้น

อีกทั้งมีการสอดแทรกกิจกรรม ที่ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างกัน อันนำไปสู่การสร้างเครือข่าย และการทำงานวิจัยร่วมกันในอนาคต ตลอดจนมีโอกาสร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาคณะฯ ร่วมกัน เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสร้างความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ได้แก่ กิจกรรม เป็นหนึ่งเดียวกัน ทดสอบปริศนาป่าชายเลน ดูนก ที่บริเวณ บ้านปากทะเล พร้อมการบรรยายเรื่อง The International Conversation Importance of the Inner Gulf of Thailand โดย ผศ. ฟิลิป ดี ราวด์ กิจกรรม ปลูกป่าชายเลน กิจกรรมแฟนพันธุ์แท้ คณะวิทยาศาสตร์ฯ กิจกรรมบายศรีสู่ขวัญ และกิจกรรมทบทวนอดีต ก้าวไปข้างหน้า งานวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล กับการมีส่วนร่วมกับสังคมไทย

งานนี้ ได้รับเกียรติจากอาจารย์อาวุโส มาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการทำงาน และมีความจำเป็นต่อการเป็นนักวิจัยที่ประสบความสำเร็จ รวมทั้งมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อให้นักอาจารย์รุ่นใหม่มีมุมมองที่กว้างขึ้น อาทิเช่นการบรรยายของ ศ.เกียรติคุณ ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ในหัวข้อ "ความประทับใจ กว่า 30 ปี ชีวิตนักวิจัยที่คณะวิทยาศาสตร์ มหิดล" สิ่งที่อาจารย์บอกกล่าวก็คือ "ชีวิตอาจารย์รุ่นใหม่มีหลายสิ่งให้จัดการในเวลาที่จำกัด จึงต้องแบ่งเวลาทำให้ดีต้องเหมือนทศกรรฐ์ที่มี 10 มือ

อาจารย์รุ่นใหม่นับเป็นอาจารย์ที่ต้องทำงานอยู่กับคณะฯ ต่อไปอีกกว่า 10 ปี และจะเป็นกำลังสำคัญในการทำงานเพื่อพัฒนาคณะฯ ให้มีความก้าวหน้าและยั่งยืน จึงมีความจำเป็นต้องรู้เท่าทันและสามารถเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับยุทธศาสตร์การวิจัยของประเทศทั้งในระยะปัจจุบันและในอนาคตอันใกล้ กับการบรรยายในหัวข้อ MUSC in 10 Years & Beyond จาก ศ.เกียรติคุณดร.พรชัย มาตังคสมบัติ กล่าวว่า "...โครงการตามลำดับความสำคัญ 10 โครงการ จาก 7 หน่วยงาน อาทิ โครงการพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ทางการแพทย์ชั้นสูง โครงการนวัตกรรมการผลิตยา วัคซีน สารชีวภัณฑ์ ทางการแพทย์ สมุนไพรและอาหารเสริม จากงานวิจัยของประเทศไทย จากหน่วยงาน ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ โครงการเพิ่มผลผลิตและความปลอดภัยของสินค้าเกษตรด้วยเทคโนโลยีนิวเคลียร์ โดยสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์ เป็นต้น จากนั้น ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. อมเรศ ภูมิรัตน ได้บอกกล่าวถึง "...ข้อมูลทุนแก่นักวิจัยรุ่นใหม่ ทุน คปก. ต่างๆ ความคาดหวังของ Publication ในอีก 10 ปีข้างหน้า เป้าหมายการลงทุนวิจัยด้าน วทน. ปี 2559 – 2564 สิ่งที่อยากจะฝากไว้สำหรับการเป็นนักวิจัยก็คือ DREAM… and follow your dream with desire and determination …"

ก่อนจากลากันวันนั้น ผู้แทนอาจารย์รุ่นใหม่ได้กล่าวว่า "...ขอบคุณอาจารย์ผู้ใหญ่ที่ให้ความรู้ ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับพวกเรา ขอบคุณที่ทำให้พวกเราได้ทำกิจกรรมดีๆ พวกเราพร้อมที่จะกลับไปทำงานเพื่อคณะฯ เมื่อพบอุปสรรคเราจะนึกถึงวันนี้ และจะเก็บความทรงจำดีๆ ไว้ เพื่อเป็นนักวิจัยที่ดีในอนาคต..."

การจัดงานครั้งนี้นับเป็นโอกาสดีที่คณะฯ ได้ทราบถึงปัญหา อุปสรรคและความต้องการในการทำวิจัย เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับคณะฯต่อไป สำหรับอาจารย์รุ่นใหม่ ถึงแม้จะอยู่ต่างภาค ต่างความถนัด แต่ก็ถ้อยที ร่วมปรึกษา ร่วมคิด ร่วมรับฟัง ร่วมเสนอแนะ ร่วมมือในการทำกิจกรรมร่วมกัน จนก่อเกิดความผูกพัน... จบงานนี้คงต้องบอกว่า...ยิ่งรู้จักยิ่งรักเธอ...

กำหนดการโครงการสัมมนา Young Investigators Retreat