logo

ภาพข่าวกิจกรรมคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาพข่าวและกิจกรรมประจำปี 2554

 

งานแถลงข่าว (Press Conference) ในการร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเชิงวิชาการ "2th Asia-Oceania Algae Innivation Summit"

ปตท.จัดสรรวงเงิน 150 ล้านบาท สนับสนุนการวิจัยสาหร่ายเพื่อพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์หนุนไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดสาหร่ายนานาชาติ ปี 2012

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2554   ศาสตราจารย์ ดร. ศกรณ์ มงคลสุข คณบดี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ประหยัด  โภคฐิติยุกต์ หัวหน้าภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ร่วมงานแถลงข่าว การเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดสาหร่ายนานาชาติ 2nd Asia –Oceania Algae Innovation Summit (AOAIS 2012) ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-5 กันยายน 2555 ณ โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน โดยมี เครือข่ายวิจัยพลังงานสาหร่ายขนาดเล็กแห่งประเทศไทย (คพท. หรือ THINK ALGAE) ประกอบด้วย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยสถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโบยีชีวภาพแห่งชาติ(ศช.) ร่วมกับสถาบันปิโตเลียมแห่งประเทศไทย (Petroleum Institute of Thailand, PTIT) เป็นผู้จัดการประชุม โดยการสนับสนุนด้านงบประมาณจาก ปตท.

ดร. ไพรินทร์  ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร / กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ที่ ผ่านมา ปตท. ให้การสนับสนุนทุนวิจัยเป็นจำนวนเงินกว่า 50 ล้านบาท และมีวงเงินกว่า 150 ล้านบาท ในการสนับสนุนการผลิตเทคโนโลยีพลังงานชีวภาพของประเทศ พร้อมทั้งจะขยายเครือข่ายความร่วมมือให้กว้างขวางต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ สาหร่ายขนาดเล็ก มีศักยภาพที่จะเป็นแหล่งพลังงานใหม่เพื่อทดแทนพลังงานจากปิโตรเลียมได้โดยสาหร่ายขนาดเล็ก สร้างพลังงานโดยผ่านกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง ใช้คาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศเป็นการช่วยลดภาวะโลกร้อนได้อีกทางหนึ่ง อีกทั้งยังได้ศักยภาพทางภูมิศาสตร์ที่ดีของประเทศไทยทำให้การเพาะเลี้ยงสาหร่ายมีความเป็นไปได้สูงทั้งจะได้ผลผลิตจำนวนมาก กล่าวคือ อุณหภูมิและแสงสว่างที่เหมาะสมต่อการเลี้ยงสาหร่ายตลอดปี เป็นปัจจัยที่เอื้ออำนวยด้วย”

ศาสตราจารย์ศกรณ์ มงคลสุข คณบดี คณะวิทยาศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในปี 2555 ที่จะถึงนี้ ประชากรของโลกจะเพิ่มจำนวน เป็น 7 พันล้านคน ในขณะเดียวกันทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำลังตกอยู่ในสภาพร่อยหรอและเสื่อโทรม จนน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะในเรื่องของทรัพยากรน้ำ แหล่งพลังงานและก๊าซเรือนกระจก ดังนั้นการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ ผนวกกับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ที่ช่วยให้การใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน  จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนสำหรับประเทศไทย และทุกประเทศทั่วโลก พลังงานไบโอดีเซลจากสาหร่ายที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมมือกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในการวิจัยและคิดค้นก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของความมุ่งมั่นที่จะช่วยพัฒนาแหล่งพลังหมุนเวียนสำหรับอนาคต  โดยที่ผ่านมาทีมวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย รศ. ดร. ประหยัด โภคฐิติยุกต์ มุ่งมั่นวิจัยจนได้ผลเป็นที่น่าพอใจ”

สำหรับการเลี้ยงสาหร่ายขนาดเล็กนี้ รศ. ดร. ประหยัด  โภคฐิติยุกต์ กล่าวเสริมว่า “ ได้พยายามคัดแยกสายพันธ์สาหร่ายขนาดเล็กจากแหล่งน้ำต่าง ๆ ภายในประเทศ และเพื่อพัฒนาให้การเลี้ยงสาหร่ายมีผลผลิตที่สูงขึ้น จึงได้ทำการศึกษาวิจัยเชิงลึกทางด้านสรีรวิทยา ทั้งระดับเซลล์และระดับโมเลกุล เช่นในกระบวนการ สังเคราะห์แสง และกระบวนการสังเคราะห์หยดไขมัน (หรือที่เรียกว่า lipid droplet) ของสาหร่าย เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้มีการศึกษาและออกแบบระบบเลี้ยงต่าง ๆ เช่น photobioreactor และ open pond ให้เหมาะกับสาหร่ายแต่ละสายพันธุ์ ทั้งนี้ทีมวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถประยุกต์ใช้และถ่ายทอดความรู้  เหล่านี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สาธารณชนต่อไป”

การประชุมครั้งนี้จะเป็นเวทีที่ประเทศไทยจะได้แสดงศักยภาพของประเทศให้เป็นที่ประจักษ์ในระดับนานาชาติ และเป็นโอกาสสำคัญในการแลกเปลี่ยนและเสริมสร้างองค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น ตลอดจนขยายความร่วมมือระหว่างประเทศในการพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูงด้านสาหร่าย พร้อมทั้งผลิตภัณฑ์ร่วมมูลค่าสูงอื่น ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อันจะนำไปสู่การแก้ปัญหาพลังงานและภาวะโลกร้อนของประเทศไทย และเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมไทยให้เติบโตและก้าวหน้าอย่างยั่งยืน