logo

ภาพข่าวกิจกรรมคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาพข่าวและกิจกรรมประจำปี 2556

 

ศิษย์เก่าและอาจารย์ คณะวิทย์ มหิดล ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น และนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี 2556

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2556 ศ.ดร.ศกรณ์ มงคลสุข คณบดี คณะวิทยาศาสตร์ พร้อมด้วย ศ.ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น รองคณบดีฝ่ายวิจัย และผศ.ดร.สมลักษณ์ อสุวพงษ์พัฒนา ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร ตลอดจนคณาจารย์ นักศึกษาและเจ้าหน้าที่ ร่วมแสดงความยินดีกับศิษย์เก่าและอาจารย์ของคณะวิทยาศาสตร์ ในโอกาสได้รับรางวัล นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น และนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี 2556 จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์

ซึ่ง ศ.ดร.อมเรศภูมิรัตน ประธานคณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น เปิดเผยว่า มูลนิธิได้จัดมอบรางวัลสองรางวัลนี้ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เป็นปีที่ 31 เพื่อเชิดชูเกียรติบุคคลที่มีผลงานด้านวิทยาศาสตร์และมีคุณธรรมสูง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้สังคมไทยเห็นความสำคัญของงานวิจัยไทยที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติมากขึ้น

สำหรับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2556 ศิษย์เก่าจากคณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล สองท่าน คว้ารางวัลในปีนี้ ได้แก่ ศ.ดร.โสพิศ วงศ์คำ ศิษย์เก่าจากภาควิชา ชีวเคมี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ด้วยผลงาน วิจัยเกี่ยวกับโรคมะเร็งท่อน้ำดีมากกว่า 30 ปี โดยเป็นการศึกษาเกี่ยวกับยีนที่มีความสัมพันธ์กับการก่อมะเร็ง และการแพร่ลุกลามของมะเร็งท่อน้ำดี เพื่อการวินิจฉัยแนวใหม่แบบพุ่งเป้าและเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาฤทธิ์ยาและสารสกัดจากสมุนไพรออกฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวและการแพร่ลุกลามของเซลล์มะเร็ง

ศิษย์เก่าอีกท่านได้แก่ รศ.ดร.บรรจบ ศรีภา จากภาควิชาพยาธิชีววิทยา ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง หัวหน้าศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกด้านการวิจัยและการควบคุมโรคพยาธิใบไม้ตับ คณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น ได้ทำวิจัยเกี่ยวกับกลไกการเกิดโรคพยาธิใบไม้ในตับ โดยได้ค้นพบกลไกอิมมูโนพยาธิวิทยา ที่ทำให้เกิดการอักเสบรอบท่อน้ำดีที่ติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดมะเร็งท่อน้ำดี

ส่วนอาจารย์ของคณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี 2556 สองท่านได้แก่ ผศ.ดร.ดวงกมล เบ้าวัน อาจารย์ภาควิชาคณิตศาสตร์ ผลงานที่ทำให้ได้รับรางวัลได้แก่การวิจัยเกี่ยวกับ การถอดสมการสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ เพื่อศึกษาพฤติกรรมของวัตถุขนาดนาโนเมตร เพื่ออธิบายพลังงาน และแรงระหว่างโมเลกุลสำหรับวัตถุขนาดนาโนเมตร ตัวอย่างของแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่ศึกษาได้แก่ การใช้ท่อที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาดนาโนเมตรหรือวัสดุที่มีรูพรุนในการแยกโปรตีนเอ็นไซม์ หรือแก๊ส ที่ผสมกันอยู่ในระบบ การหาขนาดของแคปซูลจิ๋วที่เหมาะสมที่จะสามารถบรรจุโมเลกุลของยาหรือโปรตีนใด ๆ เข้าไปได้ เพื่อเป็นต้นแบบในการนำยาเข้าสู่ร่างกาย และ ศึกษาพฤติกรรมพลังงานระหว่างอนุภาคนาโนเมตรกับเยื่อหุ้มเซลล์ เพื่อการขนส่งยาหรือแคปซูลขนาดจิ๋วไปยังเซลล์เป้าหมาย ผศ.ดร.ดวงกมลได้กล่าวเพิ่มเติมว่า "ดีใจที่ได้รับรางวัล ทำให้มีกำลังใจทำงานต่อไป ควรที่จะเลือกงานวิจัยที่เราชอบ จะทำให้มีความสุขกับการทำงานวิจัย ต้องขอขอบคุณคณะวิทยาศาสตร์ ขอบคุณภาควิชาคณิตศาสตร์ คณาจารย์และนักศึกษาทุกท่านที่มีส่วนให้ประสบความสำเร็จในครั้งนี้"

ท่านที่ 2 ได้แก่ ผศ.นพ.ดร.ฉัตรชัย เหมือนประสาท อาจารย์ภาควิชาสรีรวิทยา งานวิจัยที่ส่งผลให้ได้รับรางวัล คือ การคิดค้นพัฒนายารักษาโรคท้องร่วงและโรคธาลัสซีเมีย โดยประยุกต์ใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติของประเทศ อาทิเช่น พืชสมุนไพร ผลไม้ และของเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมการเกษตร เช่นเปลือกกุ้งและแกนหมึก เป็นต้น อีกทั้งยังได้พยายามศึกษาพยาธิสรีรวิทยาของโรคดังกล่าวเพื่อการออกแบบการรักษาโรคที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ผศ.นพ.ดร.ฉัตรชัย ได้กล่าวเสริมว่า "อยากให้น้องๆและเพื่อนๆนักวิจัย มุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำงานวิจัยต่อไป เพราะงานวิจัยเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและประโยชน์เป็นอย่างมาก โดยมุ่งเน้นทำวิจัยในหัวข้อที่ตนเองชอบ หรือตอบโจทย์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ การวิจัยที่ดีและสนุกควรร่วมกันวิจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเพื่อนนักวิจัยต่างสาขาเพราะจะทำให้เกิดผลงานวิจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเด่นชัด อีกทั้งยังทำให้เกิดการเรียนรู้และเชี่ยวชาญรอบด้านมากขึ้น สำหรับผม ผมคิดว่าสิ่งสำคัญที่จะทำให้ทำงานวิจัยได้ดีและนำไปสู่ความสำเร็จ คือ เราควรต้องรู้คุณค่าของการทำวิจัยและความสำคัญของบทบาทในฐานะนักวิจัย เพราะถึงแม้เราจะพบเจออุปสรรค ปัญหาต่างๆ เราก็จะมีกำลังใจที่จะต่อสู้ก้าวผ่านอุปสรรคต่างๆไปได้ เพราะเรารู้คุณค่าของสิ่งที่เราทำ"